ตั้งเป้าเปิดใช้งานสนามทดสอบเฟส 1 เดือน ก.ย.นี้ สมอ.เดินหน้าผลักดัน ศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯ เฟส 1 คาดเปิดดำเนินการ ก.ย.นี้ รองรับทดสอบยางล้อมาตรฐานบังคับใหม่ เพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน พร้อมลุยเฟส 2 ทดสอบ 19 มาตรฐาน เปิดดำเนินการปี 2563 นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ว่า การก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯเฟส 1 จะเสร็จในเดือน ก.ย.2561 ล่าช้ากว่ากำหนด 3 เดือน เพราะการประมูลครั้งแรกไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล แต่ขณะนี้ได้ผู้ก่อสร้างแล้ว คือ บริษัทนิปปอนการโยธา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และมีประสบการณ์สร้างสนามทดสอบรถยนต์ที่เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ส่วนตัวอาคารสนามทดสอบจะเปิดซองประมูลภายในเดือน เม.ย.นี้ "สนามทดสอบเฟส 1 ใช้งบลงทุน 800 ล้านบาท จะเป็นสนามทดสอบมาตรฐานล้อยาง มอก.ใหม่ที่เน้นในเรื่องการยึดเกาะถนน จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ย.นี้ โดยช่วงเริ่มต้นจะให้สถาบันยานยนต์ร่วมกับ สมอ.เข้ามาบริหารจัดการ เพราะมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการทดสอบรถยนต์"
ค่ายรถโลกตบเท้าลงทุนผลิตแบตเตอรี่อีวีในไทย รับนโยบายรัฐหนุนรถไฟฟ้า ค่ายรถทั่วโลกเตรียมเพิ่มกำลังผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในไทยมากยิ่งขึ้น หลังรัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนด้านผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ขณะที่ตลาดรถยนต์ไฮบริดในประเทศกำลังขยายตัว นายอันเดรอัส เลทเนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เดมเลอร์ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมนีวางแผนเปิดโรงงานแบตเตอรี่ขนาด 4.8 หมื่นตารางเมตรในไทยช่วงต้นปี 2562 ภายใต้การบริหารโดยหน่วยธุรกิจของเมอร์เซเดส ซึ่งโรงงานดังกล่าวจะเน้นประกอบแบตเตอรี่รถอีวีให้เมอร์เซเดสโดยเฉพาะ ทั้งนี้ เมอร์เซเดสกำลังวางแผนขยายโรงงานผลิตแบตเตอรี่ออกไปอีก 6 แห่งทั่วโลก ที่ประกอบด้วยในสหรัฐ จีน และไทย โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เมอร์เซเดสประกาศลงทุน 100 ล้านยูโร หรือกว่า 3,900 ล้านบาท จนถึงปี 2563 เพื่อขยายโรงงานประกอบรถยนต์และสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย นิกเกอิรายงานว่า แผนขยายโรงงานผลิตของเมอร์เซเดสเกิดขึ้นขณะที่ความนิยมรถยนต์ไฮบริดในไทยกำลังเพิ่มขึ้น โดยเมื่อปี 2560 รถไฮบริดคิดเป็นสัดส่วน 40% ของยอดขายรถในไทยของบริษัทขณะเดียวกันรายงานระบุว่า บีเอ็ม ดับเบิลยูบริษัทรถยนต์เยอรมนีรายใหญ่อีกรายกำลังจะลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ที่ จ.ระยอง ซึ่งจะเป็นโรงงานแห่งที่ 4 ของบริษัท หลังตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในเยอรมนี สหรัฐ และจีน โดยปัจจุบันบีเอ็มดับเบิลยูประกอบรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด 4 รุ่นในไทย และจำหน่ายรถยนต์รุ่นดังกล่าวได้ 1,300 คัน
นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.อยู่ระหว่างกำหนดมาตรฐานตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอสเคิร์ฟ) สอดรับกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมของรัฐบาลก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560-มีนาคม 2561) กำหนดมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้ว 45 เรื่อง คิดเป็นความคืบหน้า 38.46% แบ่งเป็นอุตสาหกรรมเดิม 22 เรื่อง และกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต 23 เรื่อง จากเป้าหมายทั้งหมด 117 เรื่อง ตั้งเป้ากำหนดมาตรฐานครบก่อนสิ้นปีงบประมาณคือเดือนกันยายน 2561 โดยกลุ่มต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่มีเพียง 2 กลุ่ม คืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิง ชีวภาพและเคมีชีวภาพดำเนินการครบแล้ว ที่เหลือยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร, หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ยังดำเนินการไม่เสร็จ นายณัฐพลกล่าวถึงการจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) เพื่อยกระดับขีดความสามารถเอสเอ็มอีว่า มีการประกาศใช้แล้ว 20 มาตรฐาน ปีนี้กำหนดเพิ่มเติมอีก 20 มาตรฐาน ได้แก่ กลุ่มมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อาทิ น้ำมันกฤษณา ลูกหมากรถยนต์ และกลุ่มมาตรฐานการให้บริการ อาทิ การบริการล้างรถ การบริการซักอบรีด การบริการร้านกาแฟ และเตรียมประกาศมาตรฐานยางล้อเป็นมาตรฐานบังคับ โดยอยู่ระหว่างการตราพระราชกฤษฎีกา และจะประกาศใช้ภายในปีนี้ เพื่อรองรับศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ
สหภาพยุโรป หรืออียู ประกาศกฎข้อบังคับให้ติดตั้งระบบเตือนภัยฉุกเฉิน (Automatic Emergency Alert System) หรือที่เรียกกันว่า ระบบอีคอล (eCall) ในยานยนต์รุ่นใหม่ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหน หรือจากผู้ผลิตค่ายใด จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 เป็นต้นไป อีคอลถือเป็นระบบมาตรฐานจะต้องติดตั้งในยานยนต์เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนระบบดังกล่าวก็คือส่วนหนึ่งของระบบเทเลเมติกส์ (Telematics) มีหน้าที่เชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลทางไกล ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์บนสมาร์ทโฟนกับแอพพลิเคชั่น สำหรับคอนติเนนทอลได้พัฒนาระบบ เทเลเมติกส์มาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2539 บริษัทเห็นด้วยกับทางคณะกรรมาธิการยุโรปสำหรับกฎข้อบังคับในการติดตั้งระบบอีคอลในยานยนต์รุ่นใหม่ทุกประเภท เฮเบลกล่าวว่า ระบบอีคอลเป็นเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ จะช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตบนท้องถนน ตอบโจทย์กับวิสัยทัศน์บริษัท คือ การลดอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์ (Vision Zero) ฟังก์ชั่นการทำงานของระบบ อีคอลจะใช้ระบบเทเลเมติกส์วิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานยนต์แบบเรียลไทม์ผ่านทางแอพพลิเคชั่น รวมถึงการแจ้งเตือนสภาพการจราจรหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะขับขี่ยานยนต์