สมัครสมาชิกวันนี้

  • Silver
  • สมาชิกระดับ Silver
  • ฟรี
  • สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารขั้นพื้นฐานได้
  • ข้อมูลผู้ประกอบการต่างประเทศ
  • ข้อมูลสถิติในประเทศและต่างประเทศ
  • มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ
  • กฎ ระเบียบ นโยบายในประเทศ
  • เทคโนโลยี และงานวิจัย
  • สมัครสมาชิก
ข่าวสารยานยนต์
อ่านข่าวสารล่าสุด

ค้นหาข้อมูล

ความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรม

            ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไทยป่วน หวั่น “อินโดนีเซีย” ออกกฎเพิ่มสัดส่วน local content ผลิตรถยนต์-จักรยานยนต์ ชิ้นส่วนไทยผวาเชื่อถ้าทำจริงกระทบทั้งระบบ “ไทยซัมมิท” หวั่นคู่ค้าหั่นออร์เดอร์ทูตพาณิชย์รายงาน ตามหลัก WTO ไม่น่าทำได้  ดร.สาโรจน์ วสุวานิช รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด ในเครือไทยซัมมิทกรุ๊ป ผู้ผลิตสายไฟรถยนต์สำเร็จรูป กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวรัฐบาลอินโดนีเซียกำลังจะปรับปรุงเงื่อนไขการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศใหม่ ด้วยการบังคับให้ผู้ผลิตเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (local content requirement) มาเป็น 90% โดยนโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากชิ้นส่วนทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศไทย          “รัฐบาลอินโดนีเซียต้องการเพิ่มการใช้วัตถุดิบในประเทศให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันชิ้นส่วนยานยนต์ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าไปจากประเทศไทย ส่งเป็น OEM เข้าโรงงานประกอบ รวมถึงชิ้นส่วนประเภทรีเพรซเมนต์หรืออะไหล่ทดแทนด้วย” ดร.สาโรจน์กล่าว

ที่มา:หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17  พฤษภาคม 2561

 

        สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แนะ BOI ปรับแพ็กเกจรถยนต์ ไฟฟ้า EV-สถานีชาร์จไฟใหม่ หลัง 1 ปี 2 เดือนที่ผ่านมายังไม่มีค่ายรถยนต์รายใดยื่นขอรับการส่งเสริม เหตุ 8 ค่ายรถยนต์หลักมุ่งไปที่รถแบบไฮบริดปลั๊กอินแทน ที่เหลือยังติดโครงการรถยนต์ ecocar การลงทุนโครงการใหม่ต้องรอโครงการเก่าผลิตคุ้มทุนก่อน ยกเว้นค่ายเบนซ์ที่ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่แล้ว   นับเป็นเวลามากกว่า 1 ปี 2 เดือนหลังจากที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้เปิดให้มีการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ (เดือนมีนาคม 2560) ปรากฏจนกระทั่งถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดได้รับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (battery electric vehicle หรือ BEV)          นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า มาตรการส่งเสริม การลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนและอุปกรณ์กำลังจะสิ้นสุดการเปิดรับคำขอภายในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ หรือเท่ากับผู้ประกอบการมีระยะเวลาเหลืออยู่เพียง 7 เดือนเท่านั้น โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการจะยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (hybrid electric vehicle หรือ รถ HEV) กับ โครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (plug-in hybrid electric vehicle หรือ รถ PHEV) มากกว่า
ที่มา : หนังสืพิมพ์  ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 16  พฤษภาคม 2561

 

           พ.ร.บ.อีอีซีบังคับใช้วันนี้ (15 พ.ค.) กำหนดให้ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นเขตพัฒนาพิเศษ วางเป้าหมายอุตสาหกรรมพิเศษ อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ การบิน เป็นต้น กำหนดการเช่าที่ดินของต่างชาติไม่เกิน 99 ปี วานนี้ (14 พ.ค.) ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2561 เป็นต้นไป โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้มีทั้งหมด 73 มาตรา รวมบทเฉพาะกาล โดยเหตุผลของการตรา พ.ร.บ. เพื่อกำหนดให้ภาคตะวันออกเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีการวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ชัดเจนแน่นอนโดยสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการบูรณาการการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้ต่อเนื่องและเชื่อมโยงกัน ทั้งในและนอกเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยระดับนานาชาติ ที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยและการประกอบกิจการ มีการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ทั้งแก่ผู้ประกอบกิจการและผู้อยู่อาศัยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นการเฉพาะ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.อีอีซี อาทิ มาตรา 6 กำหนดให้พื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออกที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อวัตถุประสงค์ อาทิ 1.พัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 2.จัดให้มีการบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกอบกิจการ 3.พัฒนาเมืองให้ทันสมัยระดับนานาชาติ สะดวก ปลอดภัย
ที่มา:หนังสือพิมพ์ ข่าวหุ้น  วันที่ 15  พฤษภาคม 2561

 

          สถาบันยานยนต์ มั่นใจยอดผลิตรถยนต์ปีนี้เข้าเป้า 2 ล้านคัน หลังยอดขายในประเทศพุ่งรับเศรษฐกิจฟื้น ลงทุนภาครัฐเริ่มส่งผลดี ลูกค้ารถคันแรกเปลี่ยนรถใหม่ ส่งออกได้แรงหนุนน้ำมันดิบราคาเพิ่ม ดันตลาดใหญ่กลุ่มประเทศตะวันออกกลางกำลังซื้อฟื้นตัว   นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน กรรมการสถาบันยานยนต์ ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า อุตสากรรมยานยนต์ยังคงมีทิศทางที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปลายปี 2560 ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากอยู่ในภาวะชะลอตัวมาหลายปี เนื่องจากยอดขายในประเทศที่ถดถอยมาตลอด 4 ปี ก่อนหน้านั้น และการฟื้นตัวช่วงปลายปียังมีผลผลักดันให้การผลิตรวมในปีที่ผ่านมาสามารถกลับมาเติบโตได้ 2.28%
ที่มา : หนังสืพิมพ์  กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14  พฤษภาคม 2561

 

          ประเทศสหรัฐอเมริกา–เจนเนอรัล มอเตอร์ส ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก และเป็นผู้ผลิตยานยนต์แบรนด์เชฟโรเลตได้นำเทคโนโลยีการออกแบบขั้นสูงด้วยซอฟต์แวร์ใหม่ มาใช้ในการออกแบบยานยนต์รุ่นใหม่ที่มีน้ำหนักเบา โดยเทคโนโลยีล้ำสมัยดังกล่าวเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนารถยนต์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีน้ำหนักเบาขึ้น และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  จีเอ็ม เป็นหนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์รายแรกของโลกที่นำเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ใหม่จากบริษัท ออโตเดสก์ซึ่งเป็นบริษัทรับออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์จากเบย์ แอเรียซานฟรานซสโกโดยเทคโนโลยีล้ำสมัยดังกล่าวใช้ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง(Cloud Computing)และอัลกอริทึมในปัญญาประดิษฐ์(AI)*ซึ่งสามารถจัดเรียงและสับเปลี่ยนแบบชิ้นส่วนต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ได้ตัวเลือกแบบที่มีประสิทธิภาพสูง และมักจะเป็นรูปทรงเรขาคณิตแบบออแกนิค แบบที่ได้จะขึ้นอยู่กับเป้าหมายและการตั้งค่าของพารามิเตอร์ของผู้ใช้ โดยผู้ใช้จะต้องป้อนข้อมูลต่างๆ เช่น น้ำหนัก ความทนทาน ประเภทวัสดุ วิธีการผลิต และอื่นๆ จากนั้นผู้ใช้จะสามารถเลือกชิ้นส่วนที่เหมาะสมดีที่สุด
ที่มา : หนังสือพิม เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 11  พฤษภาคม 2561

 

              ส.อ.ท.ปลื้มยอดผลิตรถยนต์ช่วงเม.ย.เพิ่ม 11.87% รวม 4 เดือนทำยอดแตะ 6.7 แสนคัน ชี้สถานการณ์เข้าสู่ปกติ เผยยอดผลิตเพื่อส่งออก-จำหน่ายในประเทศโต มั่นใจทั้งปีทำเป้า 2 ล้านคันได้          10 พ.ค. 2561 - นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าจำนวนการผลิตรถยนต์ของประเทศ ในเดือนเม.ย.2561 มีทั้งสิ้น 134,779 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.87% จากการผลิตรถยนต์นั่งเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 12.08% และรถกระบะเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 11.41% ขณะที่การผลิตรถยนต์นั่งและรถกระบะเพื่อจำหน่ายในประเทศก็เพิ่มขึ้น 28.21% และ 2.41% ตามลำดับ ทั้งนี้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 4 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-เม.ย.) มีจำนวนทั้งสิ้น 674,469 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.29% ถือเป็นสัญญาณที่ดีสะท้อนการผลิตรถยนต์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ที่มา:หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ไทยโพสต์ วันที่ 10  พฤษภาคม 2561

 

                "รถยนต์ไฟฟ้า" ทุกค่ายยานยนต์ไม่ว่าเป็น รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ต่างก็ตื่นตัวและประกาศนโยบายออกมาในทิศทางเดียวกันทั่วโลกว่า "เราจะทำรถไฟฟ้าอย่างแน่นอน" ดังข่าวคราวที่ทุกท่านเคยได้อ่านได้เห็นผ่านสายตามาไม่มาก ก็น้อยสำหรับปัจจัยที่จะทำให้รถไฟฟ้าแจ้งเกิดแบบเต็มตัวได้ มีอยู่ด้วยกัน 3+1 รวมเป็น ปัจจัยสี่ แต่ที่จริงแล้วทั้งหมดต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน มิฉะนั้น จะกลายเป็นปัญหาว่า ไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน ซึ่งหากทุกฝ่ายต่างเกี่ยงกันแล้ว รับรองไม่มี ทางแจ้งเกิดได้ ส่วนที่เราแยกออกเป็น 3+1 นั้นเนื่องจากอะไร ขอเชิญติดตามได้    ปัจจัยแรกสุด และดูเหมือนจะเป็นปัจจัยที่มาทีหลังสุด แต่กลับสำคัญที่สุด นั่นก็คือ "ความต้องการของผู้บริโภค" ชัดเจนในบริบท ที่แทบไม่ต้องบรรยาย เพราะหากผู้บริโภคไม่ต้องการแล้ว ไม่ว่าค่ายรถหรือภาครัฐจะผลักดันอย่างไร ไม่มีทาง แจ้งเกิดได้ เนื่องจาก คงไม่มีใครไปบังคับให้ผู้บริโภคควักกระเป๋าจ่ายเงินซื้อรถไฟฟ้าได้อย่างแน่นอน ดังนั้น ปัจจัยข้อนี้จึงสำคัญที่สุด       ส่วนการสร้างให้ปัจจัยข้อนี้เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยาก สิ่งสำคัญที่สุดคือประการแรกต้องให้ผู้บริโภคมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับรถไฟฟ้าอย่างดีก่อน มิฉะนั้น คงไม่มีใครกล้าซื้อแน่ แล้วจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภครู้และเข้าใจเกี่ยวกับรถไฟฟ้า คำตอบแสนง่ายอยู่ที่ ให้ผู้บริโภคได้สัมผัสและทดลองใช้ อาจจะด้วยผ่านกระบวนการ เปลี่ยนรถสาธารณะ เช่น รถเมล์หรือรถแท็กซี่ เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชน เกิดความคุ้นเคย หรือเปิดให้มีระบบ รถเช่าใช้ Car Sharing เฉกเช่นในยุโรปหลายประเทศที่เริ่มต้นแล้ว
ที่มา : หนังสืพิมพ์  ผู้จัดการรายวัน  วันที่ 9  พฤษภาคม 2561

 

               นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)ในฐานะประธานกรรมการสถาบันยานยนต์เปิดเผยว่า ได้ลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงเรื่อง การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ระหว่างองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(JETRO)กับสถาบันยานยนต์ โดยมีประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(เจโทรฯ กรุงเทพฯ)และนายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์เป็นผู้ลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อประสานความร่วมมือในการส่งเสริมความเข้าใจ และร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของทั้งสองประเทศประกอบด้วย ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) ยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด(PHEV),ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่(BEV),ยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง(FCEV)และยานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งจะเน้นการประสานความร่วมมือด้านต่างๆเช่น การแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับยานยนต์สมัยใหม่ ระบบความปลอดภัยการจัดการแบตเตอรี่ ระบบประจุไฟฟ้าการทดสอบยานยนต์ และชิ้นส่วนยางยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยี ส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย พลังงานไฟฟ้า และการพัฒนาบุคลากรการวิจัยพัฒนานวัตกรรม เพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เต็มรูปแบบ มีระยะเวลา3 ปีในการประสานความร่วมมือดังกล่าว
ที่มา:หนังสือพิมพ์ สยามรัฐ วันที่ 8  พฤษภาคม 2561
 


 

           นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิโดยจะนำหารือแนวคิดโครงการพัฒนาชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ต่อยอดศักยภาพการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งจะเสนอแนวทางจัดศูนย์ทดสอบยานยนต์ประสิทธิภาพสูงสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาช่างฝีมือด้านวิชาชีพเฉพาะทางให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่(ครม.สัญจร) พิจารณาในวันที่ 8 พ.ค.นี้ ที่จ.บุรีรัมย์  ขณะเดียวกัน จะเสนอ ครม. พิจารณาศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า เพื่อยกระดับการพัฒนาศักยภาพจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องในพื้นที่โดยรอบ อาทิ ธุรกิจบำรุงรักษาคอนเทนเนอร์ โลจิสติกส์ เป็นต้น พร้อมกันนี้จะหารือกับผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ ถึงแนวทางส่งเสริมงานวิจัยผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชีวภาพต่อยอดอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลในพื้นที่ เพราะมีความใกล้ชิดกับชาวไร่ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์อื่นนอกเหนือจากอุตสาหกรรมน้ำตาล
ที่มา : หนังสืพิมพ์  ไทยโพสต์ วันที่ 7  พฤษภาคม 2561

 

ศูนย์สารสนเทศยานยนต์

ติดต่อ ศูนย์สารสนเทศยานยนต์ สถาบันยานยนต์

อาคารสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา (สพข.) ซ.ตรีมิตร กล้วยน้ำไท ถ.พระรามที่ 4 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์: 0-2712-2414 ต่อ 6443
email : aiu@thaiauto.or.th