สมัครสมาชิกวันนี้

  • Silver
  • สมาชิกระดับ Silver
  • ฟรี
  • สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารขั้นพื้นฐานได้
  • ข้อมูลผู้ประกอบการต่างประเทศ
  • ข้อมูลสถิติในประเทศและต่างประเทศ
  • มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ
  • กฎ ระเบียบ นโยบายในประเทศ
  • เทคโนโลยี และงานวิจัย
  • สมัครสมาชิก
ข่าวสารยานยนต์
อ่านข่าวสารล่าสุด

ค้นหาข้อมูล

ความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรม

           นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนาเปิดโครงการสนับสนุนการเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กให้เป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์กรุงเทพฯ ว่ากระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างหารือกับผู้ผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าและเครื่องยนต์ปกติคือน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี)ทั่วประเทศ จำนวน 7 ราย ถึงความเป็นไปได้ ในการกำหนดให้รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนในการส่งออกไปขายทั่วโลก   เนื่องจากปัจจุบันรถตุ๊กตุ๊กไทยเป็นที่นิยมของผู้ใช้รถและมีการจำหน่ายแล้วใน 3 ประเทศทวีปยุโรป คือ ฝรั่งเศส สวีเดน เดนมาร์ก ขณะที่การผลิตในประเทศเพื่อใช้ส่วนบุคคลก็มีแพร่หลาย ผู้ผลิตไทยมีความสามารถ แต่ติดปัญหาแบตเตอรี่ราคาแพงประมาณ 100,000 บาทต่อลูกและต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลักซึ่งในแผนการสนับสนุนโปรดักส์แชมเปี้ยนจะรวมถึงการสนับสนุนให้มีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทย ซึ่งจะต้องประสานกับความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์แนวหน้า วันที่ 5 ตุลาคม 2560

 

 

      นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ที่ประชุมรับทราบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานผลดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินงาน ประกอบด้วย 1.มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างอุปทาน (Supply) โดยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประชุมหารือเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขข้อผูกพันภายใต้ข้อตกลงเขตเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) สำหรับอัตราภาคีนำเข้าภายใต้พิกัด 8703.80 ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม การแก้ไขข้อผูกพันดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศภาคีจึงยังไม่สามารถระบุเวลาที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จได้โดยจะขึ้นอยู่กับผลการเจรจาระหว่างไทยกับจีน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ แนวหน้า วันที่ 4 ตุลาคม 2560

 

       นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมเปิดเจรจากับจีนเพื่อขอทบทวนข้อตกลงการค้า (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-จีนในเรื่องของการปรับอัตราภาษีเหลือ 0% สำหรับสินค้านำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งเป็น 1 ใน 703 รายการมีอัตราภาษีนำเข้า 0% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เห็นว่าจะส่งผลกระทบทั้งในแง่การจัดเก็บภาษีและการดึงนักลงทุนเข้ามาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ  "ข้อตกลงเอฟทีเอไทย-จีนเกิดขึ้นระหว่างการเจรจาราวปี 2546-2547 ซึ่งขณะนั้นไทยยังไม่มีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า และปัจจุบันรัฐบาลมีแผนจะส่งเสริมให้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ในสัปดาห์หน้า นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ จะเป็นประธานประชุมหาทางแก้ไขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศุลกากร กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม" นายกุลิศกล่าว และว่า หากการเจรจาไม่เป็นผล อัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนจะอยู่ในระดับ 0% ทันทีนายกุลิศกล่าวว่า กรมกำลังประเมินผล กระทบของการปรับลดอัตราภาษีดังกล่าวต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมว่าจะมีจำนวนเท่าใด ขณะเดียวกันได้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บโดยนำระบบไอทีเข้ามาช่วยเพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ โดยปีงบประมาณ 2561 ถือเป็นอีกปีที่น่าจะมีหลายปัจจัยเข้ามากระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกรม ทั้งเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ของกรมสรรพสามิตที่ใช้ฐานราคาขายปลีกแนะนำมาคำนวณภาษี ซึ่งขณะนี้ยังติดขัดในเรื่องของการนำส่งข้อมูลราคาขายปลีกของสินค้านำเข้าต่างๆ มายังกรมศุลกากรประเมินอัตราภาษีนำเข้า คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน กว่าระบบจะเรียบร้อย ซึ่งอาจจะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ในช่วงเวลาดังกล่าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์ มติชน วันที่ 3 ตุลาคม 2560

 

 

            พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่อยู่ระหว่างเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 30 ก.ย. – 5 ต.ค. ว่า เมื่อเวลา 10.40 น. ตามเวลาท้องถิ่น วานนี้(1 ต.ค.) ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 11 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีและนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา พร้อมคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติวอชิงตัน ดัลเลส กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา โดยมีนายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงกรมพิธีการทูตสหรัฐมาต้อนรับ และเดินทางเข้าที่พัก ก่อนจะนำคณะรัฐมนตรีที่ร่วมเดินทาง หารือกับคณะทำงานและนักธุรกิจและนักลงทุนไทยในสหรัฐ   สำหรับการเดินทางครั้งนี้ มีนักธุรกิจไทยร่วมคณะ 25 คน จาก 5 ภาคธุรกิจ คือ ด้านการเกษตร อาหาร การแปรรูป การเงินการธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ ปิโตรเคมี และชิ้นส่วนยานยนต์ นายกรัฐนตรีจึงหารือเพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนพบปะนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันที่ 2 ต.ค. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 11 ชั่วโมง โดยในโอกาสนี้ ภาคเอกชนไทยได้มอบเงินช่วยเหลือสหรัฐฯ ที่ประสบภัยพายุเฮอริเคน เป็นเงินประมาณ 100,000 เหรียญสหรัฐฯ สิ่งของและอาหารอีกมูลค่าประมาณ 120,000 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่รัฐบาลไทยได้บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นเงิน 1,000,000 บาท

ที่มา : หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์เดลินิวส์ วันที่ 2 ตุลาคม 2560

 

 

   การพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบต้นทุนต่ำดังกล่าวเป็นความร่วมมือโดย บริษัท นิปปอนคิไคเอ็นจิเนียริ่ง กับสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสถาบันไทย-เยอรมัน เพื่อช่วยผู้ประกอบการ ในการลดต้นทุนในการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ นายทองพูน ทองเปล่ง วิศวกรของ บริษัท นิปปอนคิไคเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมในประเทศไทย มีบทบาทเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ ยานพาหนะ และอุตสาหกรรมการบิน อีกทั้งผู้ประกอบการยังต้องนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศที่มีราคาค่อนข้างสูง  นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องระยะเวลา ที่พนักงานใช้ในการเดินไปหยิบชิ้นงานมาประกอบ ทำให้ได้ประสิทธิภาพของการทำงาน ต่อตัวชิ้นงานค่อนข้างน้อย เมื่อนักวิจัยของนิปปอนคิไคเอ็นจิเนียริ่งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และต้องการช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน ในการนำเข้าเครื่องจักร และเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน จึงได้ประดิษฐ์คิดค้น หุ่นยนต์ต้นทุนต่ำนี้ขึ้นมา

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน 360 องศา วันที่  27 กันยายน 2560

 

 

กรศ.จ่อคลอดแผนพัฒนาบุคลากรฯรองรับ 10 อุตฯเป้าหมาย ในพื้นที่อีอีซีคาดเสนอ "ประยุทธ์" ได้ต.ค.-พ.ย.นี้เผยมีความ ต้องการแรงงานระดับอาชีวะถึง 1.75แสนคน   การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี ถือเป็น 1ใน8แผนงานย่อย ที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบในกรอบแผนงาน เพื่อนำไปสู่การยกร่างแผนดังกล่าว  โดยในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กรศ.) มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ที่จะมีขึ้นในเร็วๆนี้จะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างดังกล่าว เพื่อจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ เห็นชอบในช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนนี้ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลิตกำลังคน แรงงานที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงการสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้สมัยใหม่ การวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีดี

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ วันที่  27 กันยายน 2560

 

 

   การพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติหรือรถยนต์ไร้คนขับ จากบริษัทเทคโนโลยีหลายๆแห่งรวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ มีความชัดเจนและเข้มขึ้นเรื่อยๆ และบริษัทเทคโนโลยีจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นอีกค่ายหนึ่งที่มีความชัดเจนในการพัฒนาเพื่อแข่งขันกับเทคโนโลยีตะวันตก          บริษัทไป่ตู้ (Baidu) ยักษ์ใหญ่ทางด้านการบริการสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตของจีน หลังจากได้ประกาศโครงการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ Apollo และได้เริ่มพัฒนามาหลายปีแล้ว ล่าสุดยังได้ให้คำมั่นเพื่อเร่งโครงการได้ประกาศการจัดตั้งกองทุน Apollo Fund มูลค่าถึง 10,000 ล้านหยวนหรือประมาณ 50,000 ล้านบาท   สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การจัดตั้งกองทุนนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานเพื่อเร่งการพัฒนาด้านเทคนิคและแข่งขันกับคู่แข่งจากสหรัฐฯ โดยจะนำไปลงทุนในโครงการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับประมาณ 100 โครงการในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ที่มา : หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ไทยรัฐ วันที่ 25 กันยายน 2560

 
 

 

     นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เพื่อให้การดำเนินงานตามภารกิจของกพร.เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสอดรับกับนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของกระทรวงแรงงาน ภายใต้การนำของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมอบหมายให้สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ เร่งดำเนินการฝึกอาชีพตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ โดยเฉพาะหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ฝึกให้กับกลุ่มแรงงานใหม่ เพื่อป้อนตลาดแรงงาน เน้นสาขาช่างที่ขาดแคลน และสอดคล้องกับตามความต้องการในพื้นที่ มีระยะเวลาการฝึกในหน่วยงานของ กพร. 4 เดือน และฝากฝึกในสถานประกอบกิจการอีก 2 เดือน จึงจะจบหลักสูตร  ทั้งนี้ก่อนจบจะเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อทดสอบระดับฝีมือ และเป็นการการันตีความสามารถของแรงงานที่ผ่านการฝึกจากหน่วยงานของกพร.ด้วย นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า ในปี 2561 มีเป้าหมายดำเนินการฝึกในทุกกิจกรรมทั้งแรงงานนอกระบบ และแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบการ ที่ กพร.ดำเนินการเองจำนวน 226,000 คน สำหรับการฝึกทักษะกับแรงงานใหม่ในหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน ตั้งเป้าหมายดำเนินการกว่า 1 หมื่นคน อาทิ ฝึกในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 2,000 คน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 25 กันยายน 2560

 

 

         นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยความคืบหน้ายุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ภายหลังผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมครม.ว่า สศอ.เตรียมประสานไปยังกรมบัญชีกลางอีกครั้ง ให้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และราคาที่เหมาะสม เพื่อให้หน่วยราชการนำร่องใช้รถยนต์อีวี 10 % ของการจัดซื้อรถยนต์ตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมใช้รถยนต์อีวี เช่น หากกระทรวงอุต ฯ จัดซื้อรถยนต์ในปีงบประมาณ 61 จำนวน 10 คัน จะต้องเป็นรถยนต์อีวีจำนวน 1 คัน หากกำหนดได้เร็ว จะช่วยเพิ่มปริมาณรถยนต์อีวีได้เร็ว

ที่มา : หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์เดลินิวส์ วันที่ 25 กันยายน 2560

 

 

ศูนย์สารสนเทศยานยนต์

ติดต่อ ศูนย์สารสนเทศยานยนต์ สถาบันยานยนต์

อาคารสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา (สพข.) ซ.ตรีมิตร กล้วยน้ำไท ถ.พระรามที่ 4 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์: 0-2712-2414 ต่อ 6443
email : aiu@thaiauto.or.th