หลังจากค่าย "ฟอร์ด" แบรนด์ดังจากอเมริกา ประกาศนโยบายปรับเปลี่ยนโครงสร้างทั่วโลก และมีผลทำให้ประเทศไทย ได้เป็น 1 ใน 5 ตลาดหลักกลุ่มตลาดนานาชาติ (International Markets Group หรือIMG) ที่ประกอบไปด้วย ออสเตรเลียนิวซีแลนด์, อินเดีย, แอฟริกาใต้ , ไทย และตลาดที่บริหารงานโดยผู้จำหน่าย
ไทยยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของฟอร์ดในภูมิภาคนี้ จะว่าไปแล้วการปรับโครงสร้างใหม่ครั้งนี้ทำ ให้ไทยมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นฐานการดำเนินงานของฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มตลาดนานาชาติ(IMG Operations)และฝ่ายบริหารกิจการกลุ่มผลิตภัณฑ์ ประเภทรถกระบะสำหรับตลาดโลก(Global Trucks Enterprise Product Line Management - EPLM)ทั้งยังเป็นศูนย์กลางด้านการสื่อสารการตลาดของกลุ่มตลาดนานาชาติอีกด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 สิงหาคม 2562
นายยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า กล่าวว่าสมาคมไปยังกระทรวงพลังงาน ยื่น 8 ข้อเสนอแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการขับเคลื่อนการใช้และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงแนวทางในการทบทวนข้อกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วน ประเด็นเร่งด่วนที่ต้องการให้ภาครัฐผลักดันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทย คือ การสนับสนุนให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick Charge ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณยานยนต์ไฟฟ้า
ข้อเสนอ 8 ข้อที่ อยากให้ภาครัฐเร่งขับเคลื่อนเช่นเดียวกัน ประกอบด้วย 1. จัดทำแผนที่นำทางเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าแบบบูรณาการ (อีวี โรดแม็ป) อย่างเป็นรูปธรรม 2. ให้รัฐพิจารณาปรับปรุงข้อกฎหมายต่างๆ อาทิ ให้รถสามล้อ ไฟฟ้าและรถรับจ้างไฟฟ้าสามารถจดทะเบียนได้อย่างเสรี 3. ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยผ่านมาตรการส่งเสริม ลดภาษีส่วนบุคคลสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มแรงจูงใจผู้ใช้ ยานยนต์ไฟฟ้า 4. ควรส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในรูปแบบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถสามล้อไฟฟ้า 5. ส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 6.จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง 7. การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า และ 8.ส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า การอบรมและการจัดทำหลักสูตรวิชาชีพในสถาบันการศึกษา
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 26 สิงหาคม 2562
ในกีฬาโอลิมปิกปี 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น บริษัทโตโยต้าเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลัก โดยมีการจัดเตรียมยานยนต์และพาหนะที่ใช้เคลื่อนย้ายกว่า 3,700 คัน ซึ่งเกือบทั้งหมดใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นยานยนต์ไร้คนขับ ยานยนต์ไร้คนขับเป็นชัทเตอร์บัสรุ่น e-Palette ซึ่งเป็นยานยนต์อัตโนมัติระดับที่ 4 (ยังมีเจ้าหน้าที่ประจำเพื่อช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ) สามารถบรรทุกคนได้ 20 คน จำนวนประมาณ 12 คัน ใช้ในพื้นที่หมู่บ้านนักกีฬา รถยนต์ (เก๋ง) ใช้ไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้า รุ่น Mirai จำนวน 500 คัน ใช้ในการเคลื่อนย้ายระหว่างสนามกีฬา รถสามล้อแบบยืน รถสกู๊ตเตอร์แบบนั่ง และรถพ่วงข้าง ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ที่สามารถวิ่งได้ระยะประมาณ 6 ไมล์ จำนวน 300 คัน ใช้สำหรับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์
ที่มา: Automotive News Europe ฉบับวันที่ 26 สิงหาคม 2562
กว่า 14 ปีที่ผ่านมานั้นผู้ผลิตรถยนต์ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการผลิตกล้องมองหลัง แต่ Swamy Kotakiri ประธานฝ่ายเทคโนโลยีของ Magna International ได้มองเห็นความสำคัญของการผลิตกล้องภายใต้สัญญา 350,000 หน่วยในปี 2007 ทุกวันนี้มีการรวมตัวกันในตลาดของระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง (ADAS) ซึ่งมองว่ากล้องติดรถยนต์นั้นในอนาคตจะมีความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ในวันพุธนั้น Magna Electronic ได้เปิดโรงงานกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐใกล้ฟลินท์ รัฐมิชิแกนซึ่งมีพื้นที่ในการผลิตกว่า 230,000 ตารางฟุต ผลิตกล้อง 12 ล้านชิ้นต่อปีสำหรับลูกค้า ซึ่งบริษัท Magna ผลิตชิ้นส่วนมากกว่า 46 ล้านชิ้นสำหรับระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง Kotakiri มองว่าเป็นการสร้างระบบเทคโนโลยียานพาหนะไร้คนขับต่อไป เป็นต้น
ที่มา: Automotive News Europe ฉบับวันที่ 26 สิงหาคม 2562
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยอดผลิตรถยนต์ ในเดือนก.ค.2562 ผลิตได้ 170,847 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.7% สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศอยู่ที่ 81,044 คัน ลดลง 1.1% เนื่องจาก การอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ของสถาบันการเงิน ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 82,151 คัน ลดลง 8.87% โดยการส่งออก ลดลงเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดตะวันออกกลาง และตลาดยุโรป คิดเป็นมูลค่า ส่งออกรถยนต์ เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ รวม 60,389.30 ล้านบาท ลดลงถึง 21.47%
ทั้งนี้ ภาคเอกชนหวังว่าสหรัฐจะ ไม่เพิ่มมาตรการกีดกันการค้าเพิ่มเติม จนทำให้สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐส่งผลกระทบขยายเป็นวงกว้างออกไปมากกว่านี้ ก็เชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ในระยะข้างหน้า ส.อ.ท.จึงยังไม่มีการปรับประมาณการยอดผลิตรถยนต์ปีนี้ทั้งปี โดยคงเป้าหมายไว้ที่ 2.15 ล้านคันเหมือนเดิม เป็นเป้าผลิตเพื่อการส่งออก 1.1 ล้านคัน และเป้าผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1.05 ล้านคัน
ที่มา: ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 สิงหาคม 2562
พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า แซดเอส อีวี เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และเป็นส่วนหนึ่งในการ ส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้รถยนต์พลังงานทดแทนตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 และการที่เอ็มจีทำให้การใช้งานรถไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ "ง่าย" จึงได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า และเพื่อย้ำคำว่า "ง่าย" เอ็มจีจึงเดินหน้าสร้างระบบนิเวศ (EV Ecosystem) ให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น โดยความร่วมมือ ครั้งนี้ครอบคลุม 3 ด้านหลัก คือ
การถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของระบบไฟฟ้า การติดตั้งและปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้า อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง, การเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น ข้อมูลสถานีชาร์จ ของ กฟภ. พร้อมเครือข่ายอื่นๆ 11 เครื่อง และกำลังขยายเพิ่มอีก 62 แห่ง ให้แก่ ผู้ใช้บริการผ่านระบบปฏิบัติการ i-SMART ของเอ็มจี และการส่งเสริมและให้องค์ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า อุปกรณ์และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ด้วยการจัดกิจกรรมอบรมพนักงานเอ็มจีและตัวแทนจำหน่าย
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 สิงหาคม 2562
บริษัท ยนตรกิจ เกีย มอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า เกียเปิดตัว รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ออล นิว เกีย โซล อีวี เป็นที่แรกในเอเชีย รถยนต์ดีไซน์คาร์ อันเป็นเอกลักษณ์ของเกียที่มาพร้อมการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% และเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่สองของเกียที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เกียเป็นยี่ห้อแรกในประเทศไทยที่มีการเปิดราคาและจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% อย่างเป็นทางการ ซึ่งก็คือ เกีย โซล อีวี โฉมก่อนหน้า โดยเปิดตัวไปเมื่อช่วงปลายปี 2560 ถึงแม้ตลาดรถไฟฟ้าในปัจจุบันจะยังเล็กอยู่และมียอดขายไม่สูงมากนัก แต่มีแนวโน้มเติบโตสูงมากขึ้นในอนาคตด้วยเทคโนโลยีทันสมัยขึ้น รวมถึงการสนับสนุนจากรัฐบาล เกียจึงได้ตัดสินใจนำ ออล นิว เกีย โซล อีวี โฉมใหม่ล่าสุด เจเนอเรชั่นที่ 3 ของเกียโซล เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย
ที่มา: ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 22 สิงหาคม 2562
จีนกำลังพิจารณาการห้ามรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากน้ำมันเบนซินในบางส่วนของประเทศและอาจกำหนดเวลาในการยกเลิกรถยนต์ดังกล่าวตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมระบุ ปัจจุบันรัฐบาลสนับสนุนให้มีการขายรถยนต์ไฟฟ้าเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการลดมลพิษ เจ้าหน้าที่ต้องวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ เช่นความต้องการของตลาดและระดับการปล่อยมลพิษเพื่อตัดสินใจว่าจะทดสอบโซนห้ามใช้งานสำหรับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินโซนใดบ้าง ประเทศจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าด้วยยอดขาย 1.3 ล้านคันในปีที่แล้ว ยอดขายของ NEV ซึ่งรวมถึงแบตเตอรีไฟฟ้าและปลั๊กอินไฮบริดคาดว่าจะถึง 1.5 ล้านในปีหน้า
ที่มา: Automotive News China ฉบับวันที่ 22 สิงหาคม 2562
เปิดแนวรุก “ทาทา” ปรับโครงสร้างองค์กรพร้อมบุกตลาดไทยอีกครั้ง ชูจุดเด่นรถนำเข้าเพิ่มความคล่องตัวและความหลากหลายของโปรดักต์ เดินหน้าผนึกลีสซิ่งเสริมความแกร่ง ลั่นปีหน้าส่ง “ซีนอน เอ็กซ์-โพเลอร์”บุกปิกอัพ 4 ประตู ทาทาพร้อมบุกตลาดในประเทศไทยอีกครั้งหลังจากปรับโครงสร้างทางธุรกิจจนทุกอย่างลงตัว ซึ่งการกลับมาเที่ยวนี้จะใช้ความได้เปรียบด้านความหลากหลายของสินค้าเป็นตัวนำด้วยการนำเข้าจากอินเดียซึ่งถือว่าคล่องตัวมาก ซึ่งนำเข้าเสียภาษีประมาณ 30% สามารถทำราคาขายและแข่งขันได้สบาย รวมถึงการบริหารหลาย ๆ อย่างทำได้ดีกว่าผลิตในประเทศ
สำหรับยุทธศาสตร์จากนี้จะเน้นเดินตามนโยบายบริษัทแม่โดยทาทาประเทศไทยเน้นทำตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ จากปัจจุบันมีรถทำตลาดทั้งสิ้น 4 รุ่น ได้แก่ ซูเปอร์เอท, ซีนอน, ซูเปอร์เอซ มินส์ และรถ 6 ล้ออัลตร้าพร้อมทั้งเตรียมเปิดตัวรถปิกอัพ 4 ประตูเกียร์อัตโนมัติอย่างทาทาซีนอน เอ็กซ์-โพเลอร์ (X-PLORE) ออกสู่ตลาดอย่างเป็นทางการราวเดือนมีนาคมปีหน้า
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 สิงหาคม 2562