ยางรถยนต์เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ทำให้รถยนต์เคลื่อนที่ไปได้ และยางรถยนต์ยังเป็นชิ้นส่วนเดียวของรถยนต์ที่สัมผัสกับพื้นถนน
ดังนั้น เมื่อมีการใช้งานไปนานๆ ยางก็ย่อมเกิดการสึกหรอ หากแต่การสึกหรอของดอกยางจากการใช้งานของผู้ขับขี่แต่ละคนจะ แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวิธีการใช้งาน และการดูแลรักษาเป็นสำคัญ นอกจากนี้อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกด้วยซึ่งปัจจัย หลักที่มีผลต่อการสึกหรอมี ดังนี้
ความดันลมยาง
การเติมลมยางอ่อนกว่ามาตรฐาน
ทำให้อายุยางสั้นลงบริเวณไหล่ยางจะเกิดความร้อนสูงและสึกหรอเร็วกว่าส่วนอื่น ซึ่งอาจทำให้เนื้อยางไหม้และโครงสร้างยาง แยกตัวออกจากกันอันนำไปสู่การบวมล่อนและระเบิดของยาง นอกจากนี้ อาจทำให้โครงยางบริเวณแก้มยางฉีกขาดหรือหักได้
และยังเป็นการสิ้นเปลืองน้ำมันอีกด้วย
การเติมลมยางมากเกินไป
ไม่เป็นผลดีเช่นกัน เนื่องจากพื้นที่สัมผัสของหน้ายางกับพื้นถนนลดลง อาจทำให้เกิดการลื่นไถลได้ง่าย และโครงยางอาจระเบิดได้ ง่ายเมื่อได้รับแรงกระแทก หรือถูกตำเนื่องจากโครงยางเบ่งตัวเต็มที่เกิดการยืดหยุ่นตัวได้น้อยอายุยางก็จะลดน้อยลง เนื่องจาก
ดอกยางจะสึกบริเวณตอนกลางมากกว่าส่วนอื่น และทำให้ความนุ่มนวลในขณะขับขี่ลดลงอีกด้วย
น้ำหนักบรรทุก
การบรรทุกน้ำหนักมากเกินไป จะทำให้มีการบิดตัวบริเวณหน้ายางที่สัมผัสพื้นผิวถนนมาก ทำให้เกิดความร้อนได้ง่ายเป็นผลให้มี การสึกหรอของเนื้อยางอย่างรวดเร็ว อายุยางก็จะสั้นลง
ความเร็ว
ขณะที่รถวิ่งด้วยความเร็วสูงจะมีแรงเสียดทานและความร้อนที่เกิดขึ้นตามมาด้วย ซึ่งจะมีผลต่อความต้านทานต่อการสึกหรอทำให้ อายุของยางลดลงตามไปด้วย
การเบรกและการออกตัว
ในขณะที่รถยนต์วิ่งอยู่บนถนนจะเกิดแรงเฉื่อยซึ่งมีค่าสูงกว่าความเร็ว ดังนั้น เมื่อเบรกจนล้อหยุดหมุนแล้วแรงเฉื่อยของตัวรถจะดัน ให้ล้อลื่นไถลไปกับพื้นถนนทำให้ยางเกิดการสึกหรอ ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเร็วและระยะในการเบรกเป็นสำคัญ ส่วนการออกตัวอย่างรุนแรงทำให้ล้อหมุนฟรี หน้ายางจะเสียดสีกับพื้นถนนอย่างหนักทำให้ยางสึกหรอเร็วขึ้น
สภาพรถยนต์
เช่น ช่วงล่างและศูนย์ล้อมีผลอย่างมากกับการสึกหรอที่รวดเร็ว หากระบบศูนย์ล้อผิดพลาดไปจากสเปคของรถจะทำให้เกิด
แรงเสียดทานและลื่นไถลที่หน้ายางมากกว่าปกติ
สภาพผิวถนน
ผิวถนนยิ่งราบเรียบมาก ยางก็จะยิ่งสึกหรอช้าใช้งานได้นานกว่าการขับรถบนถนนที่ขรุขระ เพราะความต้านทานต่อการหมุนบนถนน เรียบมีน้อยกว่า ยางจึงเสียดสีกับผิวถนนเพื่อเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยแรงที่น้อยกว่า นอกจากนี้ ลักษณะเส้นทางก็มีผลเช่นกัน
การขับขี่บนทางตรงจะเกิดการสึกหรอช้ากว่าการขับขึ้นเขา หรือขับบนถนนที่คดเคี้ยว
สภาพภูมิอากาศ
ยางรถยนต์มีส่วนผสมหลักเป็นยางธรรมชาติ จึงทนต่ออุณหภูมิสูงได้น้อยกว่ายางสังเคราะห์ ดังนั้น หากยางเกิดความร้อนมากขึ้น จากการใช้งานก็จะยิ่งส่งผลต่อการสึกหรอที่รวดเร็วขึ้น
ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้การสึกหรอเกิดขึ้นช้าที่สุด สม่ำเสมอใกล้เคียงกันในทุกตำแหน่งล้อ และให้ประสิทธิภาพของยาง
แต่ละเส้นใกล้เคียงกันมากที่สุด คือ ควบคุมปัจจัยอันเป็นสาเหตุหลักของการสึกหรอของยาง โดย...
- ตรวจเช็คและปรับแต่งความดันลมยางให้อยู่ในค่ามาตรฐานด้วยวิธีการที่ถูกต้องเป็นประจำในขณะที่ยางยังเย็นอยู่ หรือก่อนการใช้งาน
- ไม่บรรทุกน้ำหนักมากเกินไป หากเป็นการใช้งานเพื่อบรรทุกหนัก ควรเลือกใช้ยางที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ
- ไม่ควรขับขี่ด้วยความเร็วสูงมากเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดความร้อนในยางสูง อันเป็นสาเหตุ ให้ยางสึกหรอเร็วขึ้น
- ใช้ความเร็วในการขับขี่ที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงการเบรกหยุดรถอย่างกระทันหัน หรือการออกตัวอย่างรุนแรง
- ดูแลรักษาศูนย์ล้อและระบบช่วงล่างอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงถนนที่มีสภาพทุรกันดาร ขรุขระ มีหลุมบ่อ หากต้องขับขี่บนถนนดังกล่าว ควรเลือกใช้ดอกยางให้ถูกประเภท และลดความเร็วในการขับขี่ลง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bridgestone.co.th