ค่ายรถยนต์ยังตรึงราคาขาย รับภาษี สรรพาสามิตใหม่ คิดจากฐานราคาขาย ปลีก 100% แจงต้องใช้เวลาศึกษาอีกระยะเพื่อบาลานซ์ต้นทุน-ราคาขายใหม่ เผยจับตาค่ายรถหั่นออปชั่น-ปรับแพ็กเซอร์วิส ภายหลังจากกระทรวงการคลังได้ประกาศ อัตราภาษีสรรสามิตใหม่ เมื่อ วันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งได้ปรับรูปแบบ การจัดเก็บภาษีรถยนต์ จากเดิมคิดอัตรา ภาษีหน้าโรงงาน ไปเป็นการจัดเก็บภาษี ณ ที่ขาย นั้น จะเห็นได้ว่าอัตราภาษี ดังกล่าวไม่ได้มีผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยอัตราภาษีส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ที่ลดลงจากของเดิม เพียงแต่รูปแบบและวิธีการคำนวน ที่เปลี่ยนไปจากเดิม คิดจากราคาหน้าโรงงานจากฐานภาษีเดิมมาจากราคาขายปลีก 76% ขยับเป็นฐานภาษีจากราคาขายปลีก 100% ณ จุดจำหน่ายนั้น ให้ช่องว่างของราคา ประกอบกับเดิมที่คิดอัตราภาษีหน้าโรงงานยังมีส่วนต่างระหว่างผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิจากฟรีโซน ซึ่งมีความแตกต่างจากผโดยเฉลี่ย 5-10% ก็จะทำให้เกิดความแตกต่างกันอยู่พอสมควร นายธนวัฒน์ คุ้มสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงเรื่องดังกล่าวว่า ขณะนี้ ค่ายรถยนต์หลายค่ายต่างก็พยายามทำงานอย่างหนักเพื่อปรับตัวและรับกับโครงสร้างภาษีที่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าโดยรวมอัตราภาษีจะลดลง แต่ต้องไม่ลืมว่า อัตราที่ลดลงไปนั้น คิดจากฐานภาษี ไม่ใช่หน้าโรงงานเช่นเดิม นั่นหมายความว่า ฐานราคาที่นำไปคำนวณจากภาษีจะสูงขึ้น ทำให้ค่ายรถยนต์หลาย ๆ ค่ายต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อหาบาลานซ์การปรับหรือไม่ปรับขึ้นราคาจำหน่ายให้ดี
ที่มา : หนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 20 กันยายน 2560
ค่ายรถชี้ ผู้เล่นหน้าใหม่เข้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไม่ง่าย จับตารถยนต์ไฟฟ้าจีนขยายตัวสูง นายคริส เวลส์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์ของโลกที่คนต่างมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งในอนาคตจะมีผู้เล่นเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่กระนั้นการพัฒนาทางเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าไม่ง่ายที่ผู้เล่นในตลาดหน้าใหม่ ซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญการผลิตรถยนต์จะเข้ามา เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีต้องใช้พื้นฐานการพัฒนาที่ต่อยอดจากความต้องการของผู้บริโภคทั้งด้านความปลอดภัยและการขับขี่ นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่อาจไม่เคยใช้ในการผลิตรถยนต์ทั่วไปในบางส่วนของตัวรถ แต่พื้นฐานการผลิตรถยนต์ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีมีความจำเป็นที่ต้องการด้านความสามารถ ซึ่งต้องถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องล่วงหน้า พร้อมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยและความมั่นใจจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 กันยายน 2560
กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือกระทรวงศึกษาธิการผลิตบุคลากรป้อนอุตฯเป้าหมายเร่งปั้นผู้เชี่ยวชาญหุ่นยนต์1.2พันคนใน5ปีเตรียมเสนอยุทธศาสตร์อาหาร-เกษตรแปรรูปเข้า ครม.เร็วๆนี้ เล็งผุดพื้นที่ส่งเสริมพิเศษในภาคเหนือ-อีสาน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย หลังการลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการ และหารือแนวทางพัฒนาพื้นที่ร่วมกับ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องภาคเอกชน และประชาชนก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ จ.พระนครศรีอยุธยาว่า กระทรวงมีนโยบายเร่งด่วนในการพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ หุ่นยนต์เพื่อป้อน 10 อุตสาหกรรม เป้าหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนทั้งในและ ต่างประเทศยังขาดโดยเฉพาะบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมหารือร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อออกแบบหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรวิชาชีพเฉพาะทางรวมทั้งหารือกับ ภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้และ เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติให้ได้ 1,200 คน ใน 5 ปีจากปัจจุบันอยู่ที่ 200 คน รวมถึงอุตสาหกรรมชีวภาพและ ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพผลิตบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางป้อนอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ก็จะช่วยลดการนำเข้าบุคลากรจากต่างประเทศไทยและยังเป็นการพึ่งพาเทคโนโลยีของตัวเองให้ต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมระดับสูง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 กันยายน 2560