ค่ายรถญี่ปุ่นทยอยปรับแผนใหญ่มุ่งสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า มาสด้าขอ 18 ปี ปิดฉากรถน้ำมัน สำนักข่าวเกียวโดรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า บริษัท มาสด้า มอเตอร์ จะยกเลิกการผลิตรถยนต์เครื่องสันดาป โดยหันมาผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) และรถเครื่องยนต์ไฮบริดทั้งหมดภายในปี 2035 ซึ่งนับเป็นค่ายรถญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่รายแรกที่ตั้งเป้าหมายดังกล่าว เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดรถยนต์ โดยเฉพาะในยุโรปที่ปรับกฎเพิ่มความเข้มงวดด้านการปล่อยมลพิษมากขึ้น รายงานระบุว่า มาสด้ายังไม่มีการผลิตรถยนต์อีวีและรถยนต์ไฮบริดแบบ เสียบปลั๊ก โดยมีเพียงรถไฮบริดแบบเดิมที่ใช้แบตเตอรี่ และรถยนต์เครื่องสันดาปที่ใช้น้ำมัน แต่เมื่อเดือนที่แล้ว มาสด้าได้ประกาศความร่วมมือกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เพื่อร่วมกันพัฒนารถอีวีและเปิดโรงงานผลิตแห่งใหม่ในสหรัฐ โดยมาสด้าคาดว่าจะสามารถเปิดตัวรถอีวีได้ครั้งแรกในสหรัฐ ภายในปี 2019
ที่มา : หนังสือพิมพ์ โพสต์ ทูเดย์ วันที่ 18 กันยายน 2560
ปักกิ่ง-รัฐบาลจีนประกาศนโยบายขยายการใช้เชื้อเพลิงเอธานอลสำหรับยานยนต์ทั่วประเทศภายในปี 2563 หวังสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพลิงเอธานอลภายในประเทศ เนื่องจากจีนยังใช้เชื้อเพลิงชีวมวลน้อยเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆที่ตลาดรถยนต์จีนถือว่าใหญ่ที่สุดของโลก อีกทั้งเป้าหมายของจีนคือการช่วยลดสภาวะโลกร้อน ขณะที่จีนมีปริมาณข้าวโพดส่วนเกินที่จะใช้ผลิตเอธานอลได้มากเฉลี่ยปีละกว่า 200 ล้านตัน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ไทยรัฐ วันที่ 14 กันยายน 2560
เมื่อวันที่ 13 กันยายน นายอิทธิชัย ปัทมสิริวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ที่มีศักยภาพของประเทศเพื่อรองรับแรงงานรุ่นใหม่ว่า ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดการประชุมสัมมนาเสนอผลการศึกษา โครงการบริการการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ โดยมีนายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานกรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยได้บรรยายพิเศษเรื่อง การปฏิรูปเศรษฐกิจด้านการเงิน (Financial Economic Reform) เพื่อให้เห็นภาพการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ที่มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม การเพิ่มผลิตภาพและพัฒนากระบวนการผลิต การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีและเครื่องจักร การบ่มเพาะและเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การส่งเสริมพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์และช่องทางการจำหน่ายในตลาดโลก การพัฒนาหน่วยผลิตในภูมิภาค การส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมอนาคต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้กำหนดแผนงาน มาตรการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมภาพรวม แผนพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มาตรการสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม และแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพภาคอุสาหกรรม โดยที่แผนงานมาตรการบางส่วน คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และบางส่วนอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ คณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ และคณะกรรมการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ มติชน วันที่ 14 กันยายน 2560