ระบบเทอร์โบอัดผ่านคาร์บูเรเตอร์
เทอร์โบจะถูกติดตั้งเพื่อดูดอากาศเปล่า ๆ (ผ่านไส้กรองอากาศ) แล้วจึงอัดผ่านปากคาร์บูเรเตอร์ ลงสู่ท่อร่วมไอดี เทอร์โบไม่ได้ทำงานภายใต้แรงดูดสุญญากาศ เพราะลิ้นปีกผีเสื้อจะอยู่หลังเทอร์โบ สามารถใช้เทอร์โบที่มีซีลกันน้ำมันเครื่องด้านไอดีแบบใดก็ได้
เทอร์โบระบบนี้ มีความสะดวกในการติดตั้งเพราะไม่ต้องย้ายตำแหน่งคาร์บูเรเตอร์ สายคันเร่ง และท่อไอดี แต่จะมีปัญหาอย่างมากในระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และการป้องกันการรั่วไหลของคาร์บูเรเตอร์ (โดยมากจะรั่วบริเวณแกนลิ้นปีกผีเสื้อ และปะเก็นต่าง ๆ)
ลิ้นปีกผีเสื้อจะอยู่หลังเทอร์โบ เทอร์โบจะดูดอากาศเปล่า ๆ โดยไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิงมาผสม และไม่มีแรงดูดสุญญากาศมาเกี่ยวข้องกับเทอร์โบเลย
ในช่วงที่เทอร์โบบูสท์ คาร์บูเรเตอร์จะทำงานภายใต้แรงดูดอยู่ตามปกติ แต่เมื่อเทอร์โบบูสท์ เทอร์โบจะอัดอากาศผ่านลงปากคาร์บูเรเตอร์ คาร์บูเรเตอร์จะต้องทำงานภายใต้สภาวะแรงดัน
ตัวคาร์บูเรเตอร์จะต้องทนแรงดัน และป้องกันการรั่วไหลได้ดี ระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงต้องเป็นแบบพิเศษ จะต้องสามารถปรับแรงดันของน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะส่งเข้าสู่คาร์บูเรเตอร์ได้ ตามบูสท์ของเทอร์โบที่เปลี่ยนแปลง เพราะในขณะที่เทอร์โบบูสท์ จะมีแรงดันผ่านเข้าสู่ห้องลูกลอย (เพื่อปรับสมดุลภายในคาร์บูเรเตอร์) เท่ากับแรงดันในท่อร่วมไอดี
ปั๊มส่งน้ำมันเชื้อเพลิง จะต้องส่งน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยแรงดันสูงกว่าบูสท์เทอร์โบ ไม่น้อยกว่า 2-3 PSI (ปอนด์ต่อตารางนิ้ว) อยู่ตลอดการทำงาน เพื่อไม่ให้น้ำมันขาดช่วง แรงดันของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกส่งเข้าสู่คาร์บูเรเตอร์ จะต้อง “เปลี่ยนแปลง” ตามสภาวะ ในขณะที่เทอร์โบยังไม่บูสท์ ก็ต้องส่งด้วยแรงดันต่ำ มิฉะนั้น เข็มลูกลอยจะกักน้ำมันไม่อยู่จนน้ำมันท่วม เมื่อเทอร์โบเริ่มบูสท์ ก็ต้องปรับแรงดันของน้ำมันเชื้อเพลิงให้สูงขึ้น ไล่ตามบูสท์ไปจนถึงบูสท์สูงสุด
เทอร์โบที่นำมาใช้ ไม่จำเป็นต้องใช้ซีลกันน้ำมันเครื่องด้านไอดีแบบ Machanical Face Seal สามารถใช้ซีลแบบ Piston Ring Seal ได้ เพราะภายในระบบอากาศของกังหันไอดีนั้น ไม่มีแรงดูดสุญญากาศเข้ามาเกี่ยวข้องเลย (ลิ้นปีกผีเสื้ออยู่ด้านหลังการอัดอากาศของเทอร์โบ)
ปัญหาของระบบเทอร์โบอัดผ่านคาร์บูเรเตอร์ อยู่ที่ระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะต้องปรับแรงดันของน้ำมันเชื้อเพลิงได้ และคาร์บูเรเตอร์จะต้องสามารถทำงานภายใต้สภาวะแรงดันได้ดี
คาร์บูเรเตอร์สำหรับการติดตั้งเทอร์โบระบบอัดผ่านคาร์บูเรเตอร์ จะต้องมีการป้องกันการรั่วไหลในตัวเองได้ดี เพราะจะต้องมีบูสท์เทอร์โบผ่านเข้าไป ต้องทำงานภายใต้แรงดันในช่วงที่เทอร์โบบูสท์ การรั่วไหลของอากาศ มักจะเกิดขึ้นที่แกนลิ้นปีกผีเสื้อ และปั๊มเร่ง รวมถึงปะเก็นต่าง ๆ
การรั่วไหลบริเวณลิ้นปีกผีเสื้อ
จะไม่ค่อยมีปัญหามากนัก ถึงแม้ว่าในตางประเทศ จะใช้วิธีต่อท่อเอาแรงดันเทอร์โบไปสร้าง แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่จำเป็น เพียงแต่ใช้คาร์บูเรเตอร์ที่มีแกนลิ้นปีกผีเสื้อไม่หลวมก็เพียงพอแล้ว
ปั๊มเร่ง
ทำหน้าที่ฉีดน้ำมันเพิ่มในช่วงที่ต้องการเพิ่มความเร็ว มี 2 แบบ คือ ปั๊มเร่งแบบไดอะเฟรม เป็นแผ่นยางแบน และมีก้านดัน เพื่อสร้างแรงดัน แบบนี้จะไม่มีปัญหาการรั่วไหลของไอดีเลย นำไปใช้ได้เลย
ปั๊มเร่งแบบลูกสูบ เป็นแกนลูกสูบสร้างแรงดัน โดยการชักขึ้นลง มียางย่น ๆ กันฝุ่นอยู่ด้านบนสุดของแกน ถ้านำไปใช้กับระบบเทอร์โบอัด บูสท์เทอร์โบจะรั่วผ่านแกนปั๊มเร่งด้านบนขึ้นมา ถ้าอยากใช้คาร์บูเรเตอร์ที่มีปั๊มเร่งแบบลูกสูบนี้ จะต้องมีการปรับแต่ง อุดรูน้ำมันบางรูของปั๊มเร่งด้วยกาวเหล็ก (Epoxy Steel) ซึ่งจะต้องอาศัยความชำนาญพอสมควร
ห้องลูกลอย
จะต้องมีบูสท์เทอร์โบผ่านเข้าไปเพื่อสร้างภาวะสมดุล ถ้าไม่มีบูสท์ผ่านเข้าห้องลูกลอย น้ำมันจะไม่สามารถไหลจากห้องลูกลอยมายังคอคอด (Venturi) เพราะแรงดันในห้องลูกลอยจะต่ำกว่าบริเวณคอคอดที่มีบูสท์เทอร์โบผ่าน
ลูกลอย จะต้องเป็นวัสดุเนื้อแข็ง เพราะจะต้องมีบูสท์ผ่านเข้าไป ควรเป็นลูกลอยแบบพลาสติกหรือโฟม ถ้าเป็นทองเหลืองก็ควรจะหนาสักหน่อย เพราะอาจจะบุบได้ (จากบูสท์เทอร์โบ)
THAIDRIVER
ที่มา : http://automobile.mweb.co.th/technology/