"ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง" เคยนำเสนอบทความเกี่ยวกับการดูแลรถไปหลายประเภทแล้ว ครั้งนี้จะพูดถึงรถประเภทขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือ 4WD ซึ่งมีข้อดีคือ ถ้าล้อหน้าของรถขับเคลื่อน 4 ล้อ
ปะทะกับสิ่งกีดขวางใดๆ ล้อหลังจะผลักจากด้านหลัง หรือ ถ้าล้อหลังมีการตกลงในหลุมโคลน ล้อหน้าจะยกให้ตัวรถยกขึ้น ดังนั้นรถขับเคลื่อน 4 ล้อสามารถขับผ่านในสภาพถนนที่ขรุขระได้อย่างดีเยี่ยม ส่วนดูวิธีการดูแลรักษารถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อคงจะไม่มีอะไรแตกต่างจากการดูแลรักษารถยนต์ทั่วไปมากนัก ถึงกระนั้นยังมีความเป็นอยู่ดีสำหรับผู้ที่เลือกรถประเภทนี้ไว้เป็นพาหนะคู่ใจ
การดูแลรักษาเพื่อยืดอายุการใช้งานของรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังการเดินทาง ดังนั้นจึงควรมีการตรวจสอบระบบต่างๆ เริ่มตั้งแต่ระบบพื้นฐานว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์หรือไม่ อาทิ ท่อยางของระบบหม้อน้ำ น้ำยาแอร์ หรือระบบน้ำมันต่างๆ เช่น น้ำมันเครื่องยนต์ น้ำมันเกียร์ น้ำมันเฟืองท้าย และน้ำมันเพาเวอร์ ทางที่ดีควรเตรียมน้ำมันเหล่านี้สำรองไว้ด้วย เพื่อความอุ่นใจในการเดินทาง
ระบบไฟส่องสว่างต่างๆ ควรอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และสามารถใช้งานได้ตามต้องการ นั่นรวมไปถึงก้านปัดน้ำฝน และน้ำในกระบอกควรเติมให้เต็ม เพราะการลุยโคลนในบางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้ทำความสะอาดกระจกบังลมหน้า
นอกจากนี้สิ่งที่ไม่ควรลืมตรวจเช็คนั่นก็คือ ยาง และยางอะไหล่ ควรตรวจวัดระดับแรงดันลมยางให้เรียบร้อย และมีลมยางอยู่ในระดับที่กำหนด ส่วนยางอะไหล่ให้เติมลมเกินจากระดับที่กำหนดไว้ เพราะถ้าต้องการใช้งานก็แค่ปล่อยแรงดันลมส่วนเกินออกไป ดีกว่าเวลาจะใช้ แรงดันลมในยางเกิดไม่พอดีจะลำบากเปล่าๆ นอกจากนั้น ในขณะขับบนทางขรุขระ ควรปล่อยแรงดันลมยางออกแต่อย่าให้ต่ำกว่า 20 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เพื่อเพิ่มความนุ่มนวล แต่ต้องระวังการบาดของหินหรือวัตถุมีคม ซึ่งมีวิธีระมัดระวังด้วยการไม่ควรใช้ความเร็วเกิน 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และถ้าต้องการลุยโคลนควรเติมแรงดันลมยางให้แข็งกว่าปกติสักเล็กน้อย เพื่อประสิทธิภาพในการตะกายผ่านแอ่งโคลน
หลังจากผ่านการใช้งานก็ควรมีการดูแลตามมาด้วยเช่นกัน เพราะคราบโคลนหรือสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ในรถยนต์ อาจกลายเป็นปัญหาหรือทำให้เกิดสนิมขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรล้างรถและทำความสะอาดทันทีหลังจากผ่านการใช้งานนั้นแล้ว เพราะนอกจากทำให้เกิดสนิมในระยะยาวแล้ว อาจส่งผลต่อการทำงานของเครื่องยนต์ ทำให้มีความร้อนขึ้นสูง เนื่องมาจากคราบโคลนที่กระเด็นมาติดตามหม้อน้ำจนทำให้ประสิทธิภาพในการระบายความร้อนลดลง
การตรวจสอบหลังจากที่ลุยน้ำ ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรละเลย เพราะเป็นความคิดที่ไม่ค่อยถูกนักว่า เมื่อชุดเกียร์และเฟืองท้าย หรืออ่างน้ำมันไม่มีการรั่วซึม เวลาลุยน้ำ น้ำจะไม่มีโอกาสเข้าไปในระบบ เพราะในความเป็นจริงนั้น ขณะใช้งาน กลไกภายในระบบขับเคลื่อนจะมีความร้อนสูงมากและเมื่อขับลงไปลุยน้ำลึกทันที ความ ร้อนในห้องเกียร์และเฟืองท้ายจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้อากาศภายในมีการหดตัวและดูดน้ำเข้ามาผ่านทางซีลและแหวนรองต่างๆ มีผลทำให้ชุดเกียร์หรือเฟืองท้ายพังได้ ทางที่ดีหลังการลุยน้ำลึก ควรตรวจสอบสภาพของน้ำในเครื่องยนต์ทันที
หากมีสีน้ำตาลอ่อนคล้ายกาแฟใส่นมหรือเป็นฟองผสมกับน้ำ ควรรีบเปลี่ยนทันที ส่วนห้องเกียร์และเฟืองท้าย เพื่อความมั่นใจหลังผ่านการลุยน้ำลึก ควรเปลี่ยนน้ำมันเกียร์และน้ำมันเฟืองท้ายทันทีเป็นการป้องกันไว้ก่อน
สุดท้ายควรใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้ออย่างน้อยเดือนละ 20 กิโลเมตร เพื่อให้ระบบขับเคลื่อนที่ชุดเฟืองล้อหน้าได้รับการหล่อลื่นอย่างสม่ำเสมอ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Motoring