Material Flow Chart
เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์กระบวนการผลิตโดยศึกษาการไหลของวัตถุดิบ เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สามารถไหลได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสายการผลิตแบบ Product line ซึ่งมีข้อดีในเรื่องของการลดความสูญเปล่าในเรื่องของการรอ (มีงานระหว่างกระบวนการ WIP จำนวนมาก) การขนส่งสินค้าระหว่างกระบวนการ
การปรับปรุงกระบวนการให้ไหลอย่างต่อเนื่องจะทำให้ Lead time ในการผลิตสินค้าสั้นลงเนื่องจากสามารถทำการผลิตแบบชิ้นต่อชิ้น ลดการขนส่งระหว่างกระบวนการ ชิ้นงานถูกแปรรูปจากวัตถุดิบไปเป็นสินค้าสำเร็จได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ผลพลอยได้ที่ตามมาคือการประหยัดพื้นที่ใช้สอยในโรงงาน เนื่องจากเมื่อมีการจัด Layout ตามผลิตภัณฑ์จะทำให้จำนวนกอง WIP ลดลงหรือแทบจะเป็นศูนย์ สายการผลิตจะมีความสั้นกระชับส่งผลให้การใช้พื้นที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
การเขียน MFC เริ่มจากการศึกษาการไหลของกระบวนการในการแปรรูปสินค้าแต่ละชนิดว่าจะต้อง ผ่านกระบวนการใด เครื่องจักรใดบ้าง ในการเขียนให้เขียนกรอบสี่เหลี่ยม 1 กรอบต่อ 1 เครื่องจักร หรือ Station ในการทำงานเรียงลำดับตามการไหลของงาน จากนั้นลากเส้นทางการไหลของชิ้นงานผ่านกรอบที่ทำการแปรรูปชิ้นงานเหล่านั้น จะเห็นเส้นทางการไหลของชิ้นงานตั้งแต่เป็นวัตถุดิบจนกลายเป็นสินค้าสำเร็จ
ในการเขียนวิเคราะห์สภาพปัจจุบันจะเห็นจุดที่ทำให้การไหลไม่ต่อเนื่องคือจุด ที่มีเส้นทางของชิ้นงานมาเจอกันซึ่งเป็นกระบวนการที่ถูกใช้ในการผลิตชิ้นงาน ร่วมกันหลายรายการ เส้นทางการไหลของชิ้นงานมีการข้ามกระบวนการ หรือมีการวนซ้ำกระบวนการ เป็นต้น จุดเหล่านี้เป็นจุดที่จะต้องทำการปรับปรุงโดยทำการร่าง MFC เป้าหมายที่จะต้องทำการปรับปรุงเพื่อให้ชิ้นงานสามารถไหลได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอุดมคติคือการทำให้เส้นทางการไหลเป็นเส้นตรงและไม่มีเส้นทางอื่นมาร่วมด้วย แต่ทั้งนี้ต้องตรวจสอบเวลาการใช้งานกระบวนการ (Work load) ให้เหมาะสมด้วย กล่าวคือต้องสามารถทำการผลิตได้เต็มเวลาทำงานปกติ
แนวทางในการปรับปรุง ทำได้โดยการเพิ่มเครื่องจักร กระบวนการผลิตเฉพาะเส้นทางการไหลนั้น ๆ เพื่อทำให้เส้นทางการไหลเป็นเส้นตรงให้มากที่สุดและเป็นเส้นทางเฉพาะชิ้นงาน นั้น เมื่อเขียน MFC ที่เป็นเป้าหมายในการปรับปรุงได้แล้ว จึงพิจารณาการจัดย้าย Layout ต่อไป
แหล่งที่มา : เทคโนโลยีการผลิต / สถาบันยานยนต์