หัวข้อการปรับปรุง
การเพิ่มกำลังการผลิตในกระบวนการ Machining
แรงจูงใจและสาเหตุที่ต้องทำการปรับปรุง
ในสภาวะปัจจุบัน ที่การแข่งขันระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เป็นไปอย่างเข้มข้น ทั้งในด้าน คุณภาพ ราคา และความตรงต่อเวลาในการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า หรือก็คือ ระบบ Q C D ที่คนในวงการผลิตได้ยินกันบ่อยๆ นั่นเอง แต่การที่จะได้มาซึ่งมาตรฐานเหล่านี้นั้นไม่ง่ายนัก และยิ่งการรักษาระดับมาตรฐานให้สามารถคงอยู่อย่างต่อเนื่องนั้นยิ่งยากกว่า โดยหลักการที่จะบรรลุถึงมาตรฐานเหล่านี้ได้นั้น ต้องมีทั้ง E และ M นั่นก็คือ ความรู้ทางด้านวิศวกรรม และความสามารถในการจัดการบริหาร เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นๆได้
ในกระบวนการผลิตโดยการ Machining ซึ่งเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่สำคัญของการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ก็เช่นกัน การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรศึกษาและทำการพัฒนา อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับผู้ผลิตรายอื่นๆ ทั้งใน และต่างประเทศ
แนวคิดที่เอามาใช้ในการปรับปรุง
การปรับปรุงประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิตหรือ ผลิตภาพในกระบวนการ Machining นั้น แบ่งได้เป็น 2 ด้าน คือการปรับปรุงการทำงานของพนักงานหน้าเครื่อง และการปรับปรุงการทำงานของเครื่องจักร โดยหลักการในการเลือกลำดับการปรับปรุงสำหรับงาน Machiningคือ
1. ปรับปรุงการทำงานของพนักงานหน้าเครื่อง เนื่องจากสามารถทำได้ทันทีและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
2. ลดระยะ Air Cut ซึ่งก็สามารถทำได้ทันที และไม่เสียค่าใช้จ่าย
3. ปรับสมดุลย์ของงานที่ผลิต ซึ่งทำได้ไม่ยาก และไม่เสียค่าใช้จ่าย
4. ลดเวลา Setup และ เปลี่ยน Tools ซึ่งทำได้ไม่ยาก และอาจมีค่าใช้จ่ายเล็กน้อยสำหรับการทำอุปกรณ์เสริม
5. ปรับ Cutting Condition ในการผลิต ซึ่งต้องมีการตรวจสอบและรับรองคุณภาพทุกครั้งทีมีการปรับปรุง และอาจส่งผลถึงอายุการใช้งานของ Tools ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น
6. ปรับปรุง Jig เพื่อให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายพอสมควรในกรณีที่ไม่สามารถทำเองได้ภายในโรงงาน แต่ถ้าหากว่าสามารถทำเองได้อาจเลือกปรับปรุงก่อนปรับ Cutting Condition
7. เปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นทางเลือกสุดท้ายในการปรับปรุงเพราะ มีค่าใช้จ่ายสูงมาก
ในกรณีที่ใช้เครื่องจักรมากกว่าหนึ่งเครื่องในการผลิตงานหนึ่งชิ้น เวลา cycle ของเครื่องที่นานที่สุดก็จะเป็นเวลา cycle time ของงานนั้นๆด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาปรับปรุงเริ่มจากเครื่องที่ใช้เวลานานที่สุด ก่อนแล้วจึงค่อยๆปรับปรุงในกระบวนการที่ใช้เวลานานถัดไปเป็นลำดับ
รายละเอียดวิธีการปรับปรุง
ขอยกตัวอย่างงาน Machining ชิ้นหนึ่ง ซึ่งใช้เครื่อง CNC 2 เครื่อง และ มี Jig ทั้งหมด 5 ตัวซึ่งมีรายละเอียดขั้นตอนและเวลาที่ใช้ในการผลิตดังที่แสดงในตารางและ แผนภูมิที่ 1
ซึ่งปัจจุบันงานชิ้นนี้ มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 5 ชิ้น/ชม. แต่ต้องการที่จะเพิ่มเป็น 10 ชิ้น/ชม. หรือลดเวลา Cycle Time จาก 12 นาที/ชิ้น เป็น 6 นาที/ชิ้น