สมัครสมาชิกวันนี้

  • Silver
  • สมาชิกระดับ Silver
  • ฟรี
  • สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารขั้นพื้นฐานได้
  • ข้อมูลผู้ประกอบการต่างประเทศ
  • ข้อมูลสถิติในประเทศและต่างประเทศ
  • มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ
  • กฎ ระเบียบ นโยบายในประเทศ
  • เทคโนโลยี และงานวิจัย
  • สมัครสมาชิก

       ในปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าการคาดเข็มเข็มขัดนิรภัย (Safety Belt) ในขณะโดยสารในรถยนต์นั้น ได้มีส่วนช่วยในการลดอาการบาดเจ็บและช่วยชีวิตผู้ที่ประสบอุบัติเหตุบนท้อง ถนนได้เป็นจำนวนมาก ในการนี้ต้องขอขอบคุณผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าวคือ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่ออกมาตรฐานบังคับเกี่ยวกับเข็มขัดนิรภัยขึ้นมา รวมถึงหน่วยงาน ภาครัฐที่มีการออกกฎหมายมาบังคับให้ผู้โดยสารที่นั่งบนที่นั่งแถวหน้าต้อง คาดเข็มขัดนิรภัยด้วย ทำให้คนขับ รวมถึงผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยโดยอัตโนมัติ และสำหรับผู้เขียนเองการคาดเข็มขัดนิรภัยก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ไปแล้วใน ปัจจุบัน โดยถ้าไม่คาดฯในขณะขับรถก็จะทำให้รู้สึกว่าขาดอะไรไปบางอย่าง และผู้อ่านหลายท่านก็คงมีความรู้สึกร่วมอย่างนี้เช่นเดียวกัน

 

       แต่ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าการออกแบบเข็มขัดนิรภัยสำหรับที่นั่งปรกติในรถ ยนต์นั้นได้ออกแบบมาสำหรับผู้ใหญ่ที่มีรูปร่าง ขนาดมาตรฐาน รวมถึงมีโครงสร้างร่างกายที่แข็งแรงกว่าเด็ก และแน่นอนไม่เหมาะสำหรับเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก เนื่องจากโครงสร้างของเด็กนั้นไม่แข็งแรงเหมือนกับของผู้ใหญ่รวมถึงขนาดของ ร่างกายที่เล็กกว่าด้วย ดังนั้นในขณะเดินทางที่มีเด็กรวมอยู่ด้วย นั้นจึงควรมีการติดตั้งอุปกรณ์พิเศษเพื่อความปลอดภัยของเด็กด้วย

 

       เราลองมาจินตนาการกันดูว่าถ้าไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์พิเศษดังกล่าว ในตำแหน่งที่เหมาะสมจะเป็นอย่างไรเมื่อเกิดอุบัติเหตุ?

 

       เมื่อเราขับรถที่ความเร็วแค่เพียง 48.3 กม./ชม. และมีการเบรกหรือมีการชน อย่างกะทันหัน จะมี ความเป็นไปได้สูงที่เด็กที่นั่งในที่นั่งปรกติจะหลุดจากที่นั่ง(เนื่องจากเด็กมีขนาดเล็กกว่าเข็มขัดนิรภัยมาก) และถูกแรงเหวี่ยงไปข้างหน้าประมาณ 30-60 เท่าของน้ำหนักร่างกายไปชนชิ้นส่วนที่อยู่ข้างหน้ารถเช่น แผงคอนโซล กระจกหน้าเป็นต้น รวมถึงอาจมีการกระดอนอยู่ภายในรถ ทำให้ได้รับบาดเจ็บที่รุนแรง และในบางกรณีอาจจะมีการพุ่งชนกระจกด้านข้างทำให้ได้รับบาดเจ็บที่มากขึ้น ด้วย แม้ว่าในกรณีที่คุณอุ้มเด็กแล้วคุณคาดเข็มขัดนิรภัยเด็กก็อาจถูกแรงดึงให้ ออกจากอ้อมแขนของคุณเนื่องจากแรงในการชนได้ ทำให้เด็กได้รับอันตราย โดยเฉพาะในกรณีที่เด็กนั่งด้านผู้โดยสารด้านหน้าที่มีถุงลมนิรภัย และถุงลมนิรภัยเกิดทำงานขึ้นมาจะทำให้เด็กได้รับอันตรายมากขึ้นจากแรงกระแทก ของการขยายตัวของถุงลมนิรภัย

 

       อุปกรณ์พิเศษที่จะทำให้เด็กมีความปลอดภัยในรถยนต์ควรเป็นอะไรดี?
       อุปกรณ์พิเศษที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็กในการเดินทางโดยรถยนต์คือ ที่นั่งเด็ก(Child Seat) ที่มีความเหมาะสมกับช่วงอายุ น้ำหนักและขนาด รวมถึงมีการติดตั้ง และการใช้งานที่ถูกต้อง โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงแบบของที่นั่งเด็ก และการเลือกใช้อย่างเหมาะสม

 

       โดยทั่วไปที่นั่งเด็กจะประกอบไปด้วย 3 แบบ โดยออกแบบแยกตามอายุ น้ำหนัก และขนาดของเด็ก
         1. Rear-facing infant seats(ที่นั่งเด็กชนิดนั่งหันไปทางหลังรถ) และ convertible seats
         2. Forward-facing child seats(ที่นั่งเด็กชนิดนั่งหันไปทางหน้ารถ)
         3. Booster seats and backless boosters (ที่นั่งเสริม)

 

       เรามาเริ่มกันทีละแบบเลยดีกว่าครับ
         1. Rear-facing infant seats (ที่นั่งเด็กชนิดนั่งหันไปทางหลังรถ) และ convertible seats
ที่นั่งเด็กชนิดนั่งหันไปทางหลังรถนี้เหมาะกับเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 12 เดือน มีน้ำหนักไม่เกิน 9 กิโลกรัม และ ส่วนสูงไม่เกิน 75 ซม. ควรติดตั้งที่นั่งเด็กดังกล่าวในที่นั่งแถวหลังเนื่องจากปลอดภัยกว่าแถวหน้า โดยเฉพาะในกรณีที่ “ที่นั่งแถวหน้า” มีการติดตั้งถุงลมนิรภัย (Airbag) เพราะแรงที่เกิดจากการระเบิดของถุงลมนิรภัยจะเพียงพอที่จะทำให้เด็กที่นั่ง ที่ที่นั่งแถวหน้าได้รับอันตรายที่รุนแรงได้ และตามคำแนะนำของ NHTSA (National Highway Traffic Safety) นั้นได้แนะนำให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ควรนั่งที่นั่งเด็กที่ “ที่นั่งแถวหลัง” ด้วยเช่นกัน

 

       การออกแบบให้หันหน้าไปทางด้านหลังนั้น ทำให้เกิดการป้องกันที่ดีกว่าต่อเด็กในส่วนของ หัวเด็ก คอ และกระดูกข้อต่อต่างๆ เพราะจะมีส่วนที่รั้งไว้ไม่ให้เคลื่อนตัวอย่างรุนแรงเนื่องจากแรงเฉื่อยที่ มาชนรวมถึงแรงกระแทกสามารถกระจายออกไปตามส่วนของร่างกายที่แข็งแรงที่สุดของ ทารกคือแผ่นหลังและไหล่ และเมื่อเด็กโตขึ้นการออกแบบดังกล่าวก็ไม่มีความจำเป็น และควรไปใช้ที่นั่งแบบอื่น
ที่นั่งเด็กบางรุ่นมีการออกแบบมาให้มีรูปร่างหรืออุปกรณ์เพื่อ ความง่ายต่อการใช้งาน หรือเพื่อเพิ่มความสะดวก นอกเหนือจากความปลอดภัยเพียงอย่างเดียว

 

       ผู้ผลิตบางรายได้มีการทำ Convertible seat เพื่อให้การใช้งาน ครอบคลุม สำหรับเด็กที่มีน้ำหนักมากกว่าหรือขนาดใหญ่กว่าด้วย และแน่นอนขนาดของที่นั่งเด็กเองต้องใหญ่กว่า และหนักมากกว่า แต่จะมีข้อดีตรงที่ใช้งานได้นานกว่า และเมื่อเด็กมีน้ำหนักและสัดส่วนที่เหมาะสมก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็น ที่นั่งเด็กชนิดนั่งหันไปทางหน้ารถ (forward facing child seat) ได้อีกด้วย

 

       ที่นั่งเด็กแบบ Rear-facing infant seats and convertible seats นี้จะยึดติดกับรถได้โดยใช้เข็มขัดนิรภัยในรถยนต์ หรือระบบ Latch system และเด็กก็จะถูกยึดติดกับที่นั่งเด็กโดย แบบการยึดโยง (Harness) ดังต่อไปนี้
         - Three-point harness (การยึดโยงแบบ 3 จุด) มีสายคาดพาดผ่านไหล่ทั้งสองข้าง และรัดแน่นกับหัวเข็มขัด (buckle) บริเวณด้านล่างของที่นั่งเด็ก
         - Five-point harness (การยึดโยงแบบ 5 จุด) มีสายคาดที่ไหล่สองข้าง ที่ตะโพก 2 ด้าน และอีกหนึ่งที่ง่าม (crotch)

         - Overhead shield ที่มีเครื่องป้องกันที่มีการห่อหุ้มและ สามารถเคลื่อนที่ขึ้นลงรอบเด็กได้
         - T-shield ประกอบด้วยเครื่องป้องกันรูปตัวที หรือรูปสามเหลี่ยมที่มีการห่อหุ้ม และยึดติดกับสายคาดไหล่ นอกจากเครื่องป้องกันนี้จะเคลื่อนตัวอยู่เบนตัวเด็กแล้ว เครื่องป้องกันนี้ยังมีการยึดติดกับด้านหน้าของที่นั่งเด็กด้วย

 

       หมายเหตุ: -ในกรณีที่ผู้อ่านจะเลือกใช้ Convertible Seat นั้นให้ผู้อ่านตระหนักว่า แบบ overhead shield หรือ t-shield อาจไม่เหมาะกับเด็กเล็ก ซึ่งโดยที่จริงแล้วแบบ Five point harness คือทางเลือกที่ดีที่สุดเพราะปรับง่ายและยึดติดกับตัวเด็กได้สมบูรณ์ที่สุด

 

         - ระบบ latch system คือระบบที่พัฒนาขึ้นที่จะทำให้ง่ายต่อการใช้งานอย่างปลอดภัย โดยระบบ latch system นี้จะผูกโยงกับจุดยึดสำหรับที่นั่งเด็กดังในภาพ อย่างไรก็ตามในรถของท่านจะต้องมีการติดตั้งระบบจุดยึด (Anchor System) ซึ่งผู้ผลิตเกือบทั้งหมดได้เริ่มผลิตระบบ Anchor System ในรถตั้งแต่ปี ค.ศ.2002 แต่อย่างไรก็ตามระบบ latch system นี้ก็ไม่จำเป็นว่าจะปลอดภัยกว่าการยึดที่นั่งเด็กกับเข็มขัดนิรภัยเสมอไป ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงประเภทรถของคุณด้วย โดยถ้าที่นั่งเด็กที่ท่านเลือกใช้สามารถยึดติดกับสองระบบได้ก็จะยิ่งดี เช่นในกรณีที่รถของคุณมีสองคันและคันหนึ่งมีระบบ Latch system แต่อีกคันหนึ่งไม่มี

 

       2. Forward-facing child seats (ที่นั่งเด็กชนิดนั่งหันไปทางหน้ารถ)
       ที่นั่งเด็กประเภทนี้เหมาะสำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 1-5 ปีหรือมีน้ำหนักระหว่าง 9-18 กิโลกรัม ส่วนสูง 75-110 ซม. ซึ่งถ้าท่านเลือกใช้ Convertible Seat มาก่อนแล้ว ท่านสามารถนำที่นั่งดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในกรณีนี้ได้ ตามคำแนะนำของผู้ผลิต

 

       ที่นั่งประเภทนี้เหมาะสำหรับการติดตั้งที่ “ที่นั่งแถวหลัง” ของรถซึ่งมีเข็มขัดนิรภัย หรือระบบ Latch system ช่วยยึดติดกับที่นั่งเด็กและ ระบบกำกัด (Restraint) ที่ถูกใช้เพื่อยึดเด็กไว้ อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาจสามารถอนุโลมให้ติดตั้งที่นั่งเด็กที่ “ที่นั่งแถวหน้า”ของรถได้ ถ้าจำเป็น (เช่น กรณีรถบรรทุกที่ไม่มีที่นั่งด้านหลัง) แต่ในกรณีดังกล่าวห้ามใช้เมื่อมีการติดตั้งถุงลมนิรภัย (Airbag) ที่ “ที่นั่งผู้โดยสารด้านหน้า” โดยในรถบางรุ่นที่สามารถปิด/เปิดการทำงานของถุงลมนิรภัย (Airbag) ที่ “ที่นั่งผู้โดยสารด้านหน้า” ได้ ให้กดปิดเมื่อมีการติดตั้งที่นั่งเด็ก

 

       3. Booster seats and backless boosters (ที่นั่งเสริม)
       ที่นั่งเด็กแบบนี้เหมาะสมกับเด็กที่มีขนาด หรือ น้ำหนักตัวประมาณ 18-27 กิโลกรัม และสูงประมาณ 110 ถึง 135 ซม. อายุระหว่าง 5-10 ปี โดยที่นั่งเด็กแบบนี้จะช่วยให้เด็กคาดเข็มขัดนิรภัยของรถยนต์ให้พอดีตัวยิ่งขึ้น

 

       เนื่องจากที่นั่งเด็กแบบนี้ไม่ได้มีเข็มขัดนิรภัยในตัวเอง โดยมีเพียงในส่วนของที่นั่งเท่านั้น โดยเข็มขัดนิรภัยของที่นั่งปรกตินั้นจะทำหน้าที่ทั้ง ยึดที่นั่งเด็กและ เด็กด้วย ดังนั้นการปรับเข็มขัดนิรภัยให้มีความเหมาะสมจึงมีความจำเป็นโดยคุณต้องมั่นใจว่า
         - เข็มขัดนิรภัยต้องรัดอย่างมั่นคงและมีความตึงเท่าที่เป็นไปได้
         - เข็มขัดนิรภัยต้องพาดผ่านสะโพก(Pelvic region) ไม่ใช่ท้อง
         - สายคาดเส้นทแยงมุม (diagonal strap) จะต้องพาดผ่านไหล่ ไม่ใช่ที่คอ

 

       สำหรับเด็กโดยทั่วไปที่มีอายุ 6 ขวบ หรือสามารถนั่งตัวตรงๆเองได้สามารถใช้ที่นั่งเด็กแบบที่ไม่มีส่วนหลัง (Backless booster seat) ได้ และควรเลือกใช้ที่นั่งเด็กรุ่นที่มีความสูงของหลัง (High backed model) ในกรณีที่ที่นั่งปรกติมีความสูงน้อย หรือไม่มีพนักพิงศีรษะ

 

       เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับข้อมูลความจำเป็นในการใช้งานที่นั่งเด็ก รวมถึงรายละเอียดต่างๆของที่นั่งเด็ก ผู้เขียนหวังว่าข้อมูลดังกล่าวคงจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อย รวมถึงการนำไปประยุกต์ใช้งานจริงกันด้วยนะครับ

 

        สำหรับที่นั่งเด็กนั้นในปัจจุบันก็มีจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำโดยทั่ว ไป โดยในการเลือกซื้อนั้นนอกจากจะต้องพิจารณาตามข้อมูลดังที่กล่าวไปแล้ว ผู้อ่าน ควรพิจารณาด้วยว่าที่นั่งเด็กดังกล่าวผ่านมาตรฐานสากลมาด้วยหรือไม่นะครับ เพราะการผ่านมาตรฐานสากลจะเป็นการรับประกันว่าที่นั่งรุ่นดังกล่าวได้ผ่าน การทดสอบที่ได้มาตรฐานมาแล้ว และมีความปลอดภัย มาตรฐานดังกล่าวเช่น ECE R44 Child Restraint Systems (มาตรฐานของสหภาพยุโรป) หรือ FMVSS No.213 Child Restraint Systems (มาตรฐานประเทศสหรัฐอเมริกา) และเมื่อมีการใช้งานที่นั่งเด็กกันมากขึ้นก็ย่อมนำไปสู่ความปลอดภัยของเด็กที่ เรารักมากขึ้นและ แน่นอนเด็กเหล่านี้ก็จะเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวของท่านในอนาคต รวมถึงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

 

       เขียนโดย ธนวัฒน์ บุญประดิษฐ์
       แผนกวิศวกรรมยานยนต์/ สถาบันยานยนต์

ศูนย์สารสนเทศยานยนต์

ติดต่อ ศูนย์สารสนเทศยานยนต์ สถาบันยานยนต์

อาคารสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา (สพข.) ซ.ตรีมิตร กล้วยน้ำไท ถ.พระรามที่ 4 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์: 0-2712-2414 ต่อ 6443
email : aiu@thaiauto.or.th