สมัครสมาชิกวันนี้

  • Silver
  • สมาชิกระดับ Silver
  • ฟรี
  • สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารขั้นพื้นฐานได้
  • ข้อมูลผู้ประกอบการต่างประเทศ
  • ข้อมูลสถิติในประเทศและต่างประเทศ
  • มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ
  • กฎ ระเบียบ นโยบายในประเทศ
  • เทคโนโลยี และงานวิจัย
  • สมัครสมาชิก
กฎระเบียบและข้อกำหนดยานยนต์
กฎระเบียบและข้อกำหนดล่าสุด

ค้นหาข้อมูล

ทรัพย์สินทางปัญญาในอุตสาหกรรมยานยนต์

 

   นิติ บุญยาภิมุข        
   แผนกวิเคราะห์ธุรกิจยานยนต์ สถาบันยานยนต์

 

   บทนำ

จากการที่ประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก(WTO)ทำให้ต้องปฎิบัติตามข้อตกลงTRIPs(Trade-related aspects of Intellectual Property Rights) โดยให้ศุลกากรมีอำนาจในการหยุดยั้งสินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและสามารถตรวจค้น กักสินค้า หรือหยุดการส่งสินค้าใด ๆ ที่ต้องสงสัยว่าจะละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้น นอกจากนั้นประเด็นดังกล่าว ยังถูกบรรจุในการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) กับประเทศต่างๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน บาห์เรน อินเดีย เปรู สหรัฐฯ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และกลุ่มประเทศอื่นๆ ในกรอบอาเซียน เช่น อาเซียน–จีน อาเซียน–ออสเตรเลีย–นิวซีแลนด์ รวมถึงกลุ่มเขตเศรษฐกิจ เช่น BIMSTEC EFTA APEC เป็นต้น

 

สถานการณ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบัน พบว่า มีมูลค่าความเสียหายจากสินค้าปลอมและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วโลกสูงถึง 350 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 7% ของมูลค่าการค้าโลก โดยเฉพาะในหมวดอุตสาหกรรมเครื่องจักรซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ เฉพาะทวีปเอเชียมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯจึงเกิดการผลักดันจากผู้ผลิตยานยนต์ และภาครัฐบาลประเทสต่างๆ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองนวัตกรรมใหม่ การใช้เงินทุนในการวิจัยและพัฒนาทั้งด้านประสิทธิภาพและคุณภาพ เมื่อได้รับผลกำไร ก้จะนำมาลงทุนสำหรับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้เกิดวงจรการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การมีระบบคุ้มครองสิทธิ์ จึงมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้คนภายในประเทศมีความต้องการการคิดเชิงนวัตกรรมมากขึ้น และยังก่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศ

 

    สถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทย

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองพิเศษจากปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีผลต่อการส่งออกรวมทั้งการเจรจาทวิภาคีและอื่นๆ ในขณะที่ประเทศไทยถูกผลักดันให้เพิ่มการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาสูงขึ้น แต่ทรัพย์สินทางปัญญาที่ควรจะได้รับความคุ้มครองของไทยกลับมีน้อยมากจึงเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันให้มีการสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญหาของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งจากการปลอมแปลงสินค้าจากผู้ผลิตภายในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ เช่น น้ำมันเบรค จานเบรค ผ้าเบรค ลูกหมาก เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า1,000ล้านบาท นอกจากนี้ การใช้อะไหล่รถยนต์ปลอมนอกจากจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของผู้ขับขี่ยานยนต์ ผู้ใช้ถนนและประชาชนทั่วไปแล้ว ยังก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันมียอดผลิตรถยนต์ 1,200,000 คัน มูลค่ารวมประมาณ 4.8 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยอะไหล่ชิ้นส่วนยานยนต์คิดเป็นมูลค่า 2.5 แสนล้านบาท

 

   ความหมายของทรัพย์สินทางปัญญา

ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง ผลงานอันเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้น หรือสร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งเน้นที่ผลผลิตของสติปัญญาและความชำนาญ โดยไม่คำนึงถึงชนิดของการสร้างสรรค์หรือวิธีการแสดงออก ทรัพย์สินทางปัญญา อาจเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่น สินค้าต่างๆ หรือเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น บริการ แนวความคิด กรรมวิธี และทฤษฎีต่างๆ เป็นต้น

 

    ประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา แบ่ง ได้ดังนี้

1.สิทธิบัตร (Patent) หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ
          - สิทธิบัตรการประดิษฐ์(Invention Patent) คือ ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับ ลักษณะองค์ประกอบ โครงสร้างหรือกลไกของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิต การรักษาหรือปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ มีอายุการรับรอง 20 ปี นับแต่วันยื่นขอรับสิทธิ์
          - สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์(Product Design Patent) คือ ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับการทำให้รูปร่างลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์เกิดความสวยงามและแตกต่างไปจากเดิม มีอายุการรับรอง 10ปี นับแต่วันยื่นขอรับสิทธิ์
          - อนุสิทธิบัตร(Petty Patent) หรือ ผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ (Utility Model) มีลักษณะคล้ายกันกับการประดิษฐ์ แต่เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่มีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีไม่สูงมาก หรือเป็นการประดิษฐ์คิดค้นเพียงเล็กน้อย มีอายุการรับรอง 6 ปี และสามารถต่ออายุได้สองครั้ง ครั้งละ 2 ปี (รวม 10ปี)

 

2. เครื่องหมายการค้า(Trademark) หมายถึง เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ หรือตราที่ใช้กับสินค้า หรือบริการ แตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เช่น TOYOTA YAMAHA FORD เป็นต้น มีอายุการคุ้มครอง 10 ปี นับแต่วันยื่นขอรับสิทธิและสามารถต่ออายุได้ทุกๆ 10 ปี

 

3. ความลับทางการค้า (Trade Secrets) หมายถึง ข้อมูลการค้าที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และมีมูลค่าในเชิงพาณิชย์เนื่องจากข้อมูลนั้นเป็นความลับ และมีการดำเนินการตามสมควรเพื่อรักษาข้อมูลนั้นไว้เป็นความลับ

 

4. ลิขสิทธิ์ (Copyright) หมายถึง งานหรือความคิดสร้างสรรค์ในสาขาวรรณกรรม ศิลปกรรมต่างๆ

 

ตัวอย่างคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งทางบริษัท GM ของสหรัฐอเมริกาได้ฟ้องร้องบริษัท Cherry ผู้ผลิตรถมินิคาร์ QQ ของจีนว่า ลอกแบบรถรุ่น Spark (หรือ Daewoo Matiz)

 

 

รูปที่ 1  เปรียบเทียบระหว่างรถยนต์รุ่น QQ และรุ่น Spark

 

ในปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา 5 ฉบับ คือ

1.พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542

2. พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543

3. พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

4. พระราชบัญญัติคุ้มครองแบบผังภูมิของวงจรรวม พ.ศ. 2543

5. พระราชบัญญัติสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2547

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีพันธกรณีตามการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศ ที่จะต้องออกกฎหมายให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภท ต่อไปในอนาคต 

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการบริโภคสินค้าปลอม

1. ราคาสินค้าแท้ มีราคาสูง ในขณะที่มุมมองของผู้ขาย มองว่าเป็นกลไกการตลาด แต่ผู้บริโภคกลับมองว่าราคาสูงเกินไป จึงมีความต้องการใช้สินค้าปลอมที่มีราคาถูกกว่า

2. คุณภาพสินค้าแท้ และสินค้าปลอมไม่แตกต่างกันมาก ตัวอย่างเช่น สินค้าแท้ มีอายุการใช้งาน 1 ปี ขณะที่สินค้าปลอมอาจจะต้องเปลี่ยนถึง 2 ครั้ง/ปี แต่เก็ยังมีราคาถูกกว่าการซื้อสินค้าของจริง แท้

3. สินค้าของแท้ ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เมื่อใช้ไปแล้วรู้สึกไม่พึงพอใจจึงตัดสินใจที่จะไม่ซื้อในครั้งต่อไป

4. ตัวแทนจำหน่ายหรือศูนย์บริการขาดความรับผิดชอบ ผู้บริโภคไม่สามารถเปลี่ยน หรือคืนได้เมื่อมีปัญหา หรือมีช่วงเวลาการรับประกันสั้น ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าไม่คุ้มค่า

รูปที่ 2 แสดงแหล่งสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในทวีปเอเชีย

 

ผลกระทบที่เกิดจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

สินค้าปลอมหรือสินค้าลอกเลียนแบบซึ่งวางขายทั่วไปตามท้องตลาดอย่างแพร่หลาย กำลังเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้เนื่องจากมีราคาถูกกว่าสินค้าแท้ สินค้าปลอมบางส่วนมีการวางจำหน่ายในศูนย์บริการ โดยตั้งราคาใกล้เคียงกับสินค้าแท้ และสร้างผลกำไรให้กับผู้จำหน่าย ในขณะที่ผู้บริโภคเอง ไม่สามารถแบ่งแยกความแตกต่างของสินค้าหรือราคาได้ ตัวอย่างชิ้นส่วนที่มีการปลอมแปลงมากในท้องตลาด คือ หัวเทียน ไส้กรองน้ำมันเครื่อง ยางรถยนต์ ผ้าเบรค น้ำมันเบรค จานเบรค แหนบ ลูกหมาก เป็นต้น สินค้าปลอมเหล่านี้มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่เพียงแต่ส่งผลเสียโดยตรงต่อผู้ใช้ แต่มีผลกระทบถึงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ

 

สินค้าซึ่งไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสมรรถนะของยานยนต์  เช่น กรณีไส้กรองน้ำมันเครื่องและไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงปลอม นอกจากจะไม่ทนทาน มีความสามารถในการกรองต่ำ อายุการใช้งานสั้น ยังส่งผลให้เกิดการสึกหรอของลูกสูบและกระบอกสูบ อัตราการเร่งต่ำลง และอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสูงขึ้น หรือกรณีการใช้ผ้าเบรคปลอมก็จะส่งผลต่อ ระยะทางที่ใช้ในการเบรคยาวขึ้นและเสียการทรงตัวขณะเข้าโค้ง หรือเกิดความร้อนสูงจนลุกไหม้ สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ขับขี่และผู้ใช้ถนน หรืออย่างเช่น กรณีการใช้หัวเทียนปลอมทำให้เกิดการ เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดไอเสียที่มีมลพิษสูงกว่ามาตรฐาน ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

 

รูปที่ 3 ไส้กรองแท้ซึ่งมีวัสดุกรองหนาและมีประสิทธิภาพสูงกว่าของปลอม

 

นอกจากนี้ เมื่อมีการละเมิดเครื่องหมายการค้า มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสินค้า
เจ้าของสิทธิ์หรือบริษัทผู้ผลิต ยอดการจำหน่าย และความสามารถในการแข่งขันลดลง ทำให้ไม่สามารถลงทุนในการสร้างนวัตกรรมใหม่ออกสู่ตลาด เมื่อพิจารณาในระดับประเทศทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการเข้ามาลงทุนเนื่องจากขาดระบบรองรับและคุ้มครองสิทธิ์ที่ดี โดยเฉพาะการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญต่อความอยู่รอดโดยเฉพาะในธุรกิจยานยนต์ซึ่งมีการแข่งขันสูง

 

ระบบทรัพย์สินทางปัญญาและแนวทางการพัฒนาของประเทศไทย

หน่วยงานหลักที่ดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย คือ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โดยรวมงานด้านสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ และงานลิขสิทธิ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการในปี 2535 ไว้ด้วย พร้อมทั้งความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกโดยมีระบบและแนวทางการพัฒนาด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ดังนี้

 

รูปที่ 4 แสดงระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย

1.การสร้างสรรค์(Creation) การสร้างผลงานจากการประดิษฐ์ คิดค้น สร้างสรรค์ 

2. การคุ้มครอง(Protection) สร้างกลไกการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อย่างมีประสิทธิภาพ

3.การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (Commercialization) เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการสิทธิ์หลังจากได้รับการคุ้มครอง และขอบเขตการใช้สิทธิ์

4.การปราบปราม(Enforcement) การปราบปรามการละเมิดสิทธิและการลงโทษ

 

ปัญหาที่ประเทศไทยหรือประเทศกำลังพัฒนาประสบจะคล้ายคลึงกัน คือ ขาดการสร้างสรรค์ในขณะที่ ผู้ประกอบการเองยังไม่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา หรือขาดความรู้ในการพัฒนาทำให้ขาดการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ จึงไม่ให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญา แต่จะมุ่งเน้นกับการป้องกันและการปราบปรามตามแรงผลักดันจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ในการพัฒนาควรที่จะต้องพัฒนา  ทุกด้านอย่างสมดุลและไม่ควรพัฒนาเฉพาะด้านเพียงด้านเดียว ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญามีแนวการพัฒนา ดังนี้

 

1.สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันด้านวิจัยและพัฒนา เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลงานทรัพย์สินทางปัญญาใหม่ๆ

 

 2.ปรับปรุงการจดทะเบียนและงานทะเบียนต่างๆ โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ทำให้การตรวจค้น ตรวจสอบการคุ้มครองด้านต่างๆ เช่น สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ ความลับทางการค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

 

3. การตั้งหน่วยงานเพื่อให้บริการ เช่น IPIC (IP Information Center) IPMC (IP Management Center) IPL (IP Library) IPTC (IP Training Center) เพื่อเผยแพร่ความรู้ เพื่อสร้างทัศนคติเชิงบวกด้านทรัพย์สินทางปัญญาและทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งตระหนักถึงประโยชน์ของทรัพย์สินทางปัญญา เกิดจิตสำนึกและค่านิยมในการใช้สินค้าและบริการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

 

4.การปราบปราม สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ในการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ระหว่าง หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานป้องปรามทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมตำรวจ กรมศุลกากร เอกชนเจ้าของสิทธิ 

 

ปัญหาการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาในอุตสาหกรรมยานยนต์

ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นมาก คือ การละเมิดเครื่องหมายการค้า การละเมิดสิทธิบัตรการออกแบบ และลิขสิทธิ์ นั้น มีสาเหตุหลัก มาจาก

 

1. ผู้ประกอบการขาดความรู้และความเข้าใจระบบทรัพย์สินทางปัญญา ไม่เข้าใจถึงสิทธิประโยชน์ ที่ควรได้รับ เนื่องจากไม่ได้รับข่าวสาร ข้อมูล หรือการให้การศึกษา ทั้งที่เป็นประเด็นซึ่งมีความสำคัญในระดับนานาชาติ : จึงควรมีการเผยแพร่ความรู้ เพื่อสร้างทัศนคติเชิงบวกด้านทรัพย์สินทางปัญญา

 

2. ขาดการสร้างสรรค์และการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ : เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนา และจำนวนการจดสิทธิบัตรในด้านยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยแล้ว ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่นซึ่งจะเน้นการพัฒนาและวิจัยภายในประเทศแล้วใช้ต่างประเทศเป็นฐานการผลิต

 

3. ข้อจำกัดในอุตสาหกรรมซึ่งขาดการพัฒนาและออกแบบเอง โดยเป็นผู้รับจ้างผลิตตามแบบจากต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นการละเมิดสิทธิบัตร หรือนำไปติดเครื่องหมายการค้าปลอม

 

4.  การแข่งขันภายในอุตสาหกรรมสูง ทำให้ขาดการนำเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามาหารือกันในวงการอุตสาหกรรมเท่าที่ควร ทั้งที่เป็นประเด็นที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม

 

แนวทางการแก้ไขปัญหาทรัพย์สินทางปัญญา

จากการเสนอสรุปวิธีปฏิบัติที่ดี (Best Practice) เพื่อการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเสนอโดยประเทศญี่ปุ่นใน 8th APEC Automotive Dialogue ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ประกอบด้วย 11 ประเด็นซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบ IPR ของประเทศไทยให้สอดคล้องกับแนวทางของประเทศต่างๆมีดังนี้

1. การควบคุมพรมแดนที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึงของศุลกากร

2. การสร้างกรอบความร่วมมือระหว่างกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา เจ้าหน้าที่สืบสวน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

3. การสร้างศูนย์ให้คำปรึกษาครบวงจรโดยภาครัฐ

4. ระบบลงทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา

5. การเตรียมข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสม

6. การบัญญัติและแก้ไขกฏหมาย รวมทั้งข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง

7. ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลต่างประเทศและหน่วยงานต่างชาติ

8. การสร้างกรอบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม

9. การกระจายภารกิจร่วมระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม

10. การฝึกสอนเจ้าหน้าที่ทั้งผู้มีอำนาจเกี่ยวกับสิทธิบัตร และ การสืบสวน

11. การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตื่นตัวในสังคมด้านการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

 

บทสรุป

การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ ต่อการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การมุ่งเน้นการปราบปรามอย่างเข้มงวดคงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แต่ควรมีการปลูกฝังให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ กระตุ้นการวิจัยและพัฒนา โดยการสนับสนุนของภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนประเทศที่มีความพร้อมหรือพยายามผลักดันเอง ควรเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ในขณะที่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายก็ควรให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าและบริการที่ดีด้วยราคาเหมาะสม ควบคู่กับการปลูกจิตสำนึกในการใช้สินค้าแท้ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ศูนย์สารสนเทศยานยนต์

ติดต่อ ศูนย์สารสนเทศยานยนต์ สถาบันยานยนต์

อาคารสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา (สพข.) ซ.ตรีมิตร กล้วยน้ำไท ถ.พระรามที่ 4 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์: 0-2712-2414 ต่อ 6443
email : aiu@thaiauto.or.th