ยางรถยนต์ไม่ได้หมดอายุจากการสึกของดอกยางเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้ยางหมดอายุได้ โดยแบ่งเป็น 6 ลักษณะ คือ ดอกหมด ไม่เกาะ เนื้อแข็ง โครงสร้างกระด้าง เสียงดัง หรือแก้มบวม ถ้าเกิดขึ้นเพียงลักษณะเดียวหรือควบคู่กัน ก็ถือว่ายางนั้นหมดอายุ
การเปลี่ยนยาง ควรเปลี่ยนพร้อมกันทั้ง 4 เส้น เพราะยางผ่านการใช้งานมาเท่ากัน ย่อมมีการสึกหรอและสภาพภายในที่ใกล้เคียงกัน โดยควรเลือกใช้ยางรุ่น และขนาดเดียวกันทั้ง 4 ล้อ
สาเหตุของการหมดอายุของยาง
ดอกหมด – ถ้ายางดอกหมด หรือร่องยางเหลือตื้นมาก แต่ส่วนประกอบของยางเส้นนั้นยังดีอยู่ ก็ยังสามารถใช้บนถนนเรียบ และแห้งได้ และจะเกาะถนนแห้งดีกว่ายางมีดอกที่มีความกว้างเท่ากัน เพราะมีพื้นที่สัมผัสถนนมากกว่า ส่วนร่องยางมีหน้าที่ในการรีดน้ำ ฝุ่น และโคลนเป็นหลัก ยิ่งร่องตื้น หน้าสัมผัสของดอกยางก็ยิ่งมาก เพราะร่องยางส่วนใหญ่เป็นทรงกึ่งตัววี – V
แต่รถยนต์ที่ขับใช้งานทั่วไป ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าเมื่อไรจะเจอถนนเปียก เมื่อยางดอกหมดหรือหรือมีความลึกต่ำกว่าที่กำหนด ก็ควรเปลี่ยนชุดใหม่
เนื้อแข็ง – ตามพื้นฐานของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยาง ที่เมื่อถูกความร้อน (ที่ไม่ร้อนจัดถึงขั้นละลาย) ก็จะค่อย ๆ แข็งขึ้น ยางรถยนต์ส่วนใหญ่ เมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง และได้รับความร้อนจากสภาพอากาศ พื้นถนน และการบิดตัวของยางเอง ซึ่งเกิดขึ้นตลอดการหมุน เนื้อยางก็จะแข็งขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อเนื้อยางเริ่มแข็งขึ้น การสึกของดอกยางก็จะช้าลง มองดูแล้วเห็นว่าร่องยางยังลึกอยู่ แต่แรงเสียดทานระหว่างดอกยางกับผิวถนนจะมีน้อยลง และโครงสร้างภายในของยางก็เสื่อมสภาพลงด้วย
หาก เปรียบเทียบอัตราการสึกของดอกยางต่อระยะทาง เมื่อผ่านการใช้งานไปแล้ว แทบไม่มียางรุ่นไหนที่ดอกสึกเร็วขึ้น ส่วนใหญ่มักจะสึกช้าลงหรือแทบไม่สึกเลยเมื่อเนื้อยางแข็งกระด้างเต็มที่ ทดสอบง่าย ๆ โดยใช้เล็บจิกลงบนเนื้อของหน้ายาง เปรียบเทียบกับยางใหม่ ๆ ที่สามารถจิกลงไปในเนื้อยางได้ง่าย และลึกกว่า
หากดอกยางใหม่หมด เฉลี่ยคร่าว ๆ ว่า เมื่อเกิน 3 ปี หรือเกิน 50,000 กิโลเมตร หากต้องการใช้งานต่อ ต้องหมั่นตรวจสอบสภาพอย่างสม่ำเสมอ และควรหลักเลี่ยงยางเก่าเก็บ เพราะจะทำให้ระยะเวลาในการใช้ยางสั้นลงกว่า 3 ปี
เสียงดัง – เป็นผลต่อเนื่องมาจากการแข็งตัวของเนื้อยาง ทำให้ขาดความยืดหยุ่น ลื่น และเกิดเสียงดังขึ้นขณะขับ โดยเฉพาะยางที่มีดอกขนาดใหญ่ และร่องยางห่าง ซึ่งปกติก็มีเสียงดังอยู่แล้ว เมื่อผ่านการใช้งานไปนาน ๆ ก็จะมีเสียงดังมากขึ้น
แก้มบวม – มักเกิดจากการหมดอายุของโครงสร้างภายใน หรือการกระแทกอย่างรุนแรง เช่น การขับตกหลุมหรือเบียดเข้าขอบทางเท้า จนโครงสร้างภายในบริเวณแก้มยางแตกหักเสียหาย บริเวณแก้มยางจะป่องออกมาคล้ายลูกมะนาว ซึ่งมีอันตรายมากอาจถึงขั้นยางระเบิด โดยเฉพาะถ้าเกิดขึ้นบริเวณแก้มยางด้านใน ซึ่งสังเกตได้ยาก
ดังนั้นจึงมีข้อควรจำก็คือ หากตกหลุมหรือกระแทกอะไรแรง ๆ ควรรีบตรวจสอบยางเส้นนั้นอย่างละเอียดทั้ง 2 ด้าน ถ้าพบว่ามีการบวม ควรเปลี่ยนยางเส้นใหม่ทันที
เกร็ดการยืดอายุยาง
1. ตรวจสอบหน้ายางและแก้มยางว่ามีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นหรือไม่ เช่น รอยบาด การบวม การแตกลายงาในทุกส่วนของยาง หากเกิดการชนหรือบาดกับของมีคมหรือเศษวัสดุก่อสร้างบนท้องถนนที่แก้มยางจน ถึงชั้นผ้าใบ ควรเปลี่ยนใหม่ ไม่ควรซ่อม เพราะแก้มยางคือจุดที่ต้องรับน้ำหนัก และมีการบิดตัวไปมาขณะรถยนต์ขับเคลื่อน อาจเกิดการระเบิดได้หากมีการฉีกขาด
2. น้ำมันทุกชนิดมีผลทำให้ยางบวมหรือร่อน ควรหลีกเลี่ยงการจอดหรือขับทับน้ำมัน หรือหากมีน้ำกรดโดนยาง ควรล้างออกด้วยน้ำสบู่เท่านั้น เพราะมีค่าเป็นด่าง
3. ตรวจสอบสภาพของกระทะล้อ และวาล์วเติมลมเป็นประจำ เพราะบ่อยครั้ง การแบนหรือรั่วซึมมาจาก 2 จุดนี้ ไม่ได้เกิดจากตัวยาง และควรมีฝาปิดจุกเติมลมให้มิดชิด
4. เมื่อรถเสีย และถูกลากเป็นระยะทางไกล ๆ (สำหรับรถขับเคลื่อนล้อหน้า) ควรเพิ่มแรงดันลมยางที่ล้อหลังอีก 3-4 ปอนด์/ตารางนิ้ว
5. การเข้าโค้งอย่างรุนแรง หรือการออกตัวแบบกระชากกระชั้น ทำให้ยางสึกเร็วกว่าปกติ
6. ตรวจสอบความลึกของดอกยางว่าถึงระดับที่ควรเปลี่ยนหรือยัง ซึ่งความลึกของร่องยางที่เหมาะสม ควรมากกว่า 2 มม. โดยยางเกือบทุกรุ่นจะมีสัญลักษณ์บอกระดับความลึกของดอกบาง เป็นแท่งเชื่อมระหว่างดอกยางบริเวณส่วนลึกสุดของร่องยาง (ไม่ใช่ทุกร่อง) เมื่อไรที่ดอกยางสึกจนถึงแท่งนี้ แสดงว่าควรเปลี่ยนยางเส้นใหม่
อย่างไรก็ตามควรพิจารณาองค์ประกอบอื่นของยางควบคู่ไปด้วย เช่น สภาพของเนื้อยางมีการบวม หรือแตก เพราะยางบางเส้นอาจหมดอายุการใช้งาน เนื่องจากสภาพของเนื้อยาง แม้ดอกยางยังมีความลึกมากกว่า 2 มม. ก็ตาม
7. ควรแคะก้อนกรวดที่ค้างอยู่ในร่องยางออกให้หมด เพราะสิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ เบียดลงไปจนทำให้ทิ่มตำเนื้อยางได้
การรับน้ำหนัก และความเร็วของยาง
นอกจากการขับขี่อย่างระมัดระวัง และดูแลรักษาที่ถูกวิธีแล้ว การเลือกยางให้เหมาะสมกับการใช้งาน โดยเฉพาะในเรื่องของน้ำหนักบรรทุก และข้อจำกัดความเร็วของยางแต่ละเส้น ให้เหมาะสม ก็มีส่วนในการยืดอายุการใช้งาน เหนือสิ่งอื่นใด ยังหมายถึงความปลอดภัยของชีวิตด้วย
บนแก้มของยางแต่ละเส้นนั้น จะมีตัวเลข 1 คู่ และตามด้วยตัวอักษร ซึ่งจะบ่งบอกว่า ยางเส้นนี้ รับน้ำหนักบรรทุกสูงสุด และความเร็วสูงสุดได้แค่ไหน ยกตัวอย่าง เช่น 87V ตัวเลข 2 หลักหมายถึง ดัชนีน้ำหนักบรรทุกของยางเส้นนั้น หรือ LOAD INDEX มีหน่วยเป็นกิโลกรัม ซึ่งต้องอาศัยตารางในการเปรียบเทียบ
ตัวอักษรภาษาอังกฤษ ตามตัวอย่างก็คือ V เป็นสัญลักษณ์ความเร็ว หรือ SPEED SYMBOL หมายถึง ความเร็วสูงสุดที่ยางเส้นนั้นรับได้ มีหน่วยเป็นกิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่ควรใช้ความเร็วสูงสุดเกินกว่าที่ยางรับได้ และถ้ายางผ่านการใช้งานมานาน ก็ไม่ควรขับถึงหรือใกล้ความเร็วสูงสุดที่ยางเส้นนั้นรับได้ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุระเบิดได้
THAIDRIVER
ที่มา : http://automobile.mweb.co.th/news/