สมัครสมาชิกวันนี้

  • Silver
  • สมาชิกระดับ Silver
  • ฟรี
  • สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารขั้นพื้นฐานได้
  • ข้อมูลผู้ประกอบการต่างประเทศ
  • ข้อมูลสถิติในประเทศและต่างประเทศ
  • มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ
  • กฎ ระเบียบ นโยบายในประเทศ
  • เทคโนโลยี และงานวิจัย
  • สมัครสมาชิก
กฎระเบียบและข้อกำหนดยานยนต์
กฎระเบียบและข้อกำหนดล่าสุด

ค้นหาข้อมูล

ย้อนกลับไปเมื่อ 100 ที่แล้ว รถยนต์คันแรกเข้ามาวิ่งในแผ่นดินสยามถือเป็นสิ่งแปลกใหม่บนท้องถนน คนยุคนั่นคงนึกไม่ถึงว่ามันจะเป็นพาหนะสำคัญ จนเป็นปัจจัยที่ 5 ของผู้คนในยุคปัจจุบัน

 

 

ธุรกิจรถยนต์ยุคเริ่มต้นมีเพียงรถอิมพอร์ตเจ้าของร้านเป็นฝรั่งต่างชาติไม่กี่ร้านและแต่ละร้านก็สูญสลายไปในเวลาต่อมาตำนานรถยนต์และธุรกิจรถยนต์ต่างเลือนไปจากความทรงจำของคนรุ่นปัจจุบันเสียสิ้นจากฝรั่งสู่มือคนไทย รถคันแรกในเมืองบางกอก

 

ปี 2406 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้ตัดถนนสายแรกในมหานครขึ้นคือถนนเจริญกรุง ตั้งต้นที่กำแพงพระบรมมหาราชวังเลียบฝั่งเจ้าพระยาไปสิ้นสุดที่บางคอแหลมหรือถนนตกในปัจจุบัน ในยุคนั้นมีเพียงรถลากและรถม้าเป็นเจ้าครองถนนสายแรกที่มีความยาว 6.5 กม.และในช่วง 30 ปีต่อมาก็มีการตัดถนนเพิ่มเพียงไม่กี่สาย ในปี 2435 ในยุคของรัชกาลที่ 5 ถนนในเมืองบางกอกรวมกันแล้วมีความยาวเพียง 12 กม. แม้ถนนบางสายจะมีความกว้างถึง 20 เมตรก็ตาม หากหลับตานึกภาพบนท้องถนนสมัยนั้นมีรถยนต์มาวิ่งท่ามกลางรถม้าและรถลากคงเกิดความโกลาหลไม่น้อยการกำเนิดรถยนต์ในประเทศไทยและการที่พระราชวงศ์ไทยสนพระทัยในเรื่องรถยนต์เป็นเรื่องที่อุบัติขึ้นแทบจะเป็นเวลาเดียวกันกับช่วงเปลี่ยนศตวรรษเมื่อเริ่มมีการผลิตรถยนต์ในยุโรปและอเมริกาเหนือ รถยนต์คันแรกขึ้นบกที่ท่าเรืออู่บางกอก และมีการขับไปตามท้องถนนท่ามกลางสายตาของประชาชนที่เฝ้ามองอย่างพิศวง

 

image_116-1

.

รถยนต์สมัยต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นรถยี่ห้อใด

คันเกียร์และคันห้ามล้อ ติดตั้งอยู่นอกตัวถังด้านขวามือของผู้ขับ

 

รถยนต์อันเป็นเทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 20 เข้ามาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อใดยังเป็นข้อถกเถียงไม่สิ้นสุด แต่เชื่อกันว่าเป็นชาวต่างชาติเป็นผู้สั่งเข้ามาเป็นคนแรก รถคันนี้มีลักษณะคล้ายกับรถบดถนนในปัจจุบัน มีล้อเป็นยางตัน หลังคาคล้ายปะรำ ที่นั่ง 2 แถว ใช้น้ำมันปิโตรเลียมเป็นเชื้อเพลิงและรถมีกำลังเพียงวิ่งตามพื้นราบ ไต่ขึ้นเนินสะพานไม่ได้ การใช้งานของรถคันแรกจึงมีขีดจำกัดเพราะท้องถนนเมืองบางกอกเต็มไปด้วยสะพานข้ามคลองสูงเพื่อให้เรือลอดผ่านได้ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของรถยนต์ยุคนั้น

 

รถยนต์คันแรกสามารถปลุกเร้าความสนใจของคนไทยและคนต่างชาติได้เป็นอย่างดี ต่อมาไม่นานเจ้าของรถคันดังกล่าวก็ขายต่อให้จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ถือเป็นคนไทยคนแรกที่เป็นเจ้าของรถยนต์ ท่านจอมพลฯ ซื้อรถยนต์มาทั้งที่ขับไม่เป็นจึงต้องให้ท่านพระยาอนุทูตวาที (เข็ม แสงชูโต) น้องชายเป็นผู้ขับแทน เชื่อกันว่าพระยาอนุทูตวาทีเป็นคนไทยคนแรกที่ขับรถยนต์ได้ เนื่องจากเคยทำงานที่ประเทศอังกฤษจึงมีโอกาสได้ขับรถยนต์ ต่อมาก็สอนคนอื่นเรียนรู้การขับรถยนต์อย่างแพร่หลาย

 

หลังการซื้อรถมาเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้มีโอกาสขับโลดแล่นไปตามท้องถนนเมืองบางกอกอยู่หลายปีก่อนที่รถคันแรกจะเสื่อมสูญไปตามกาล ยุคนั้นผู้ที่สั่งรถเข้ามาจะเป็นพระราชวงศ์เป็นส่วนใหญ่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2411 พระองค์ทรงสนพระทัยเรื่องรถยนต์เป็นอย่างมาก และพระราชวงศ์หลายพระองค์ก็มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติยานยนต์ของไทย ปี 2447 มีรถยนต์ 3 คันเข้ามาวิ่งในถนนบางกอก แต่ไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเป็นรถยนต์ยี่ห้ออะไรและใครเป็นเจ้าของ

 

ปีนั้นเองรัฐบาลเห็นความสำคัญเรื่องเทคโนโลยีใหม่ไม่น้อย โดยได้สั่งซื้อรถแวนแล่นได้เร็วถึง 10 ไมล์ต่อชั่วโมงเพื่อใช้ในการขนส่งทองแท่งเงินแท่งและเหรียญกษาปณ์หนักหนึ่งตัน ในพ.ศ.เดียวกันนั้น ขณะที่พระเจ้าลูกยาเธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงประชวรและเสด็จรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส ได้ทรงซื้อรถยนต์เดมเลอร์-เบนซ์หนึ่งคันซึ่งถือว่าเป็นรถที่ดีที่สุดในยุคนั้น เมื่อทรงเสด็จกลับแผ่นดินสยาม พระองค์ได้น้อมเกล้าฯ ถวายรถคันดังกล่าวแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นรถยนต์พระที่นั่งคันแรกในประวัติศาสตร์ไทย และผู้ที่ทำหน้าที่สารถีก็คือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์นั่นเอง

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานรถยนต์พระที่นั่งมากเพราะมีความสะดวกสบายและเดินทางได้เร็วกว่ารถม้าพระที่นั่ง เมื่อทรงว่างจากพระราชกรณียกิจจะเสด็จไปที่ต่างๆ ด้วยรถยนต์พระที่นั่งคันดังกล่าวเสมอ ต่อมาทรงเล็งเห็นว่ารถคันเดียวไม่เพียงพอที่จะใช้งานตามพระราชประสงค์ พระองค์จึงตัดสินพระทัยที่จะซื้อรถยนต์พระที่นั่งอีกหนึ่งคัน เสด็จในกรมฯกรมหลวงราชบุรีฯ เป็นผู้แทนพระองค์ในการสั่งซื้อและทรงเลือกรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซึ่งเป็นรถนำเข้าโดยตรงจากประเทศเยอรมนี รุ่นปี 2448 เครื่องยนต์สี่ลูกสูบขนาด 28 แรงม้า วิ่งเร็ว 73 กม.ต่อชั่วโมง นับว่าเร็วมากในยุคนั้น

 

รถพระที่นั่งคันนั้นเกือบเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้เมื่อมาถึงคณะกรรมการตรวจรับช่วยกันเติมน้ำมันเบนซินใส่ถัง โดยไม่มีใครสังเกตเห็นละอองน้ำมันลอยฟุ้งไปถึงตะเกียงรั้วซึ่งแขกยามแขวนไว้ในโรงม้าที่อยู่ใกล้ ๆ กว่าจะรู้ก็ต่อเมื่อน้ำมันเบนซินในปี๊บลุกเป็นไฟอย่างฉับพลัน ต้องช่วยกันใช้ฟ่อนหญ้าสำหรับม้ากินฟาดดับไฟ แขกโรงม้าต้องวิ่งไปเอาถังน้ำมาช่วยดับอีกแรง ทุกคนต้องอกสั่นขวัญแขวนเมื่อตรวจพบว่าเปลวไฟลวกสีรถเกรียมไปแถบหนึ่ง บานประตูใช้ไม่ได้อีกข้างหนึ่ง

 

ผู้รับผิดชอบที่นำข่าวร้ายไปกราบบังคมทูล พระกรุณาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคือพระเจ้าลูกยาเธอกรมหลวงราชบุรีฯ ขณะที่ทรงประทับอยู่ที่สวนอัมพร ทรงนิ่งอึ้งชั่วครู่ ก่อนที่รับสั่งให้ซ่อมแซมความเสียหาย 2-3 สัปดาห์ต่อมารถซ่อมเสร็จ คณะกรรมการจึงนำรถมาถวายให้ทอดพระเนตรพระองค์ขึ้นประทับและทรงลองขับดูชั่วครู่ทรงรู้สึกว่าต้องพระราชหฤทัย

 

พระองค์ได้ทรงพระราชทานนามแก่รถยนต์พระที่นั่งคันนี้ว่า “แก้วจักรพรรดิ” นับแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่ง รถยนต์พระที่นั่งคันนี้ก็ได้รับใช้พระองค์ท่านอย่างซื่อสัตย์เป็นเวลาหลายปี

 

รถยนต์แพร่หลายมอเตอร์โชว์เมื่อเกือบ 100 ปี

ความนิยมในการใช้รถยนต์แพร่หลายในหมู่พระราชวงศ์และคหบดีในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงดำริว่า สมควรจัดงานเฉลิมฉลองสักครั้งหนึ่ง

 

ดังนั้นปลายฤดูฝน วันที่ 7 ตุลาคม ปี 2448 จึงมีพระบรมราชโองการให้มีการชุมนุมพบปะกันของรถยนต์ครั้งแรกในเมืองบางกอก

 

ปรากฏว่ามอเตอร์โชว์ครั้งแรกของสยามมีรถยนต์ไปชุมนุมในบริเวณพระบรมมหาราชวังทั้งสิ้น 30 คัน พระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับเจ้าของรถทุกคน ครั้นเวลาบ่ายสี่โมงเย็นจึงเคลื่อนขบวนรถไปตามถนนสามเสนและเลี้ยวเข้าสู่สวนดุสิตสองข้างทางมีผู้คนยืนเรียงรายชมขบวนด้วยความตื่นตาตื่นใจ

 

image_116-2

 

ในวาระเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 56 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี 2451 ทรงสั่งรถยนต์เข้ามาเป็นของขวัญพระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นสูงเพื่อใช้ในราชการแผ่นดิน   ทรงสั่งรถยนต์จำนวน 10 คันจากฝรั่งเศสเช่นเคยและทรงพระราชทานนามแก่รถยนต์แต่ละคันเช่นเดียวกับพระราชทานนามแก่รถยนต์แต่ละคันเช่นเดียวกับพระราชทานนามช้างเผือก เพื่อแสดงถึงฐานะและความมั่งคั่ง

 

เวลาข้าราชบริพารพูดถึงรถจึงไม่เรียกชื่อรุ่นหรือยี่ห้อ แต่จะเรียกชื่อพระราชทานเป็นเรื่องสับสนสำหรับชาวต่างชาติที่ไม่รู้ภาษาไทยว่าหมายถึงรถคันไหน ตัวอย่างนามพระราชทานเช่น แก้วจักรพรรดิ, มณีรัตนา, ทัดมารุต, ไอยราพต, กังหัน, ราชอนุยันต์, สละสลวย, กระสวยทอง, ลำพองทัพ, พรายพยนต์, กลกำบังและสุวรรณมุขี เป็นต้น

 

400 กว่าคันทั่วประเทศครั้งแรกของกฎหมายรถยนต์

เมื่อมีการใช้รถอย่างแพร่หลาย ถนนเมืองบางกอกเริ่มมีการประลองความเร็วกันจนฝุ่นตลบสร้างความเดือดร้อนให้คนที่สัญจรไปมาเป็นอย่างมากอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 

อุบัติเหตุถึงชีวิตเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ปี 2448 แต่ก็ไม่ทำให้ความนิยมในการใช้รถถดถอยลงหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ในสมัยนั้นจึงมีข่าวอุบัติรถยนต์ชนกับรางไฟฟ้าพาดหัวไม้ให้อ่านแทบทุกวัน โดยคู่กรณีมีทั้งสองล้อ สามล้อและสี่ล้อ แม้กระทั่งรถยนต์ประสานงากับรถม้าหรือคนเดินเท้าจึงเป็นที่มาของกฎหมายจราจรในเวลาต่อมา จำนวนรถยนต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนโกงก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว นอกจากมีการขโมยรถแล้วเจ้าของรถบางคนก็ใช้เล่ห์เลี่ยมขายรถแล้วกล่าวหาว่าคนซื้อเป็นขโมย ต้องเดือนร้อนขึ้นโรงขึ้นศาล

 

image_116-3

 

เพื่อยุติปัญหาดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ตราพระราชบัญญัติรถยนต์ฉบับแรกของไทยขึ้นเมื่อปี 2452 ให้มีผลบังคับใช้ในปีถัดมา


     พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้เจ้าของรถจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย และเสียค่าธรรมเนียมคันละ 10 บาท รถยนต์นั่งและรถบรรทุกในพระราชอาณาจักรที่มีการจดทะเบียนในเวลานั่นมีจำนวนดังนี้


       เมืองบางกอกและจังหวัดใกล้เคียงมี 401 คัน นครสวรรค์ 1 คัน


       นครศรีธรรมราช 2 คัน ภูเก็ต 2 คันและภาคเหนือ 6 คัน


รถยนต์เริ่มเข้ามามีบทบาทเปลี่ยนโฉมหน้าเมืองบางกอกเป็นอย่างมาก ถนนที่เคยจอแจด้วยรถลากและรถม้าก็มีรถยนต์วิ่งไปมาทั้งวัน ในเวลาต่อมาถนนหลายสายก็ผุดขึ้น ป้อมปราการหลายแห่งเริ่มหายไป ประตูเมืองบางที่ถูกทุบเพื่อนำอิฐและเศษปูนมาปูเป็นถนน

 

กำเนิดธุรกิจรถยนต์รถอิมพอร์ตเฟื่องฟู

เมื่อมีผู้นิยมใช้รถมากขึ้น ร้านรวงในย่านการค้าเมืองหลวงเริ่มเปลี่ยนแปลงทุกสัปดาห์จะมีการขึ้นป้ายประกาศเปิดกิจการของตัวแทนจำหน่ายรถยนต์รายใหม่  ส่วนใหญ่เจ้าของร้านมักจะเป็นคนต่างชาติที่เข้ามาหากินในเมืองไทย ซึ่งไม่ต่างกับธุรกิจคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันรถยี่ห้อใหม่ ๆ หลั่งไหลเข้ามาสนองความต้องการของลูกค้าผู้กระหาย

- จี.อาร์.อองเดร.ตั้งอยู่สี่กั๊กพระยาศรี ตัวแทนจำหน่ายของอดัม โอเพล แห่งรัสเซลส์ไฮม์

- บางกอก ทรัสต์ ลิมิเทด ตั้งอยู่ยานนาวา ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นั่งของอาร์ม สตรอง ซิดลีด์,ไซเลนท์ ไนท์ และฟอร์ด และเป็นตัวแทนจำหน่ายรถบรรทุก รถโดยสารของสตาร์ สโตร์ บริษัทนี้มีอู่ซ่อมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยรองรับรถได้ถึง 20 คัน

- กองตัวร์ ฟรองซัว ดือ เซียม ตั้งอยู่ถนนสี่พระยา จำหน่ายรถฝรั่งเศสหลายยี่ห้อ

- จอห์น เอ็ม. ดันลอป ตัวแทนจำหน่ายรถของบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ส จำกัด ของสหรัฐอเมริกา

- เอส.เอ.บี. ตั้งอยู่ถนนเจริญกรุง จำหน่าย รถแบลริโอต์ และมีอู่ซ่อมรถหลายยี่ห้อ

- สยาม อิมพอร์ท คัมปะนี เป็นตัวแทนจำหน่ายรถนาปิแอร์

- ส่วนรถเปอร์โยต์มีผู้จำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวคือ สยาม ฟอเรสต์ ทรัสต์ ลิมิเทด

- วินด์เซอร์ คัมปะนี เป็นตัวแทนจำหน่ายรถกาเกเนา มีอู่ซ่อมขนาดใหญ่เช่นกัน

 

ความนิยมการใช้รถทำให้เกิดธุรกิจมือสองตามมา ในปี 2450 โดยพระพิศาลสุขุมวิท โชคดีจับสลากชิงรางวัลรถยนต์ของชาวต่างชาติผู้หนึ่งเสมือนเป็นการขายทอดตลาดรถมือสอง

 

เล่าลือกันว่าพระพิศาลสุขุมวิท ชมชอบการขับรถด้วยความเร็วสูงถึงขนาดตัดถนนเล็ก ๆ บริเวณชานเมืองเพื่อจะได้ขับรถเร็วตามใจต้องการถนนสายนี้คือถนนสุขุมวิทในปัจจุบัน  ถัดจากการจำหน่ายรถของห้างร้านต่างๆ แล้วธุรกิจที่ตามมาคือ การค้าน้ำมัน เมื่อห้างนายเลิศ หันมาจับธุรกิจจำหน่ายน้ำมันเบนซินจนขึ้นชื่อและรุ่งเรืองมากในสมัยรัชกาลที่ 6

 

นับเป็นฉากเริ่มต้นยานยนต์ไทยที่ทำให้ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงตามมาจากยานพาหนะแปลกประหลาดสู่ธุรกิจหมื่นล้านแสนล้านในยุคนี้  รถยนต์เก่าในยุคแรก ๆ ได้กลายเป็นของสะสมอันทรงคุณค่าของบรรดาผู้ชื่นชอบความคลาสสิกรถเก่า

 

**หมายเหตุ ข้อมูลและภาพประกอบจากหนังสือราชยานยนต์หลวงโบราณแห่งสยาม ของสมาคมรถโบราณลุฟท์ฮันซ่า-คาสตรอล**

 

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์  16 กรกฎาคม 2547 18:26 น.

ศูนย์สารสนเทศยานยนต์

ติดต่อ ศูนย์สารสนเทศยานยนต์ สถาบันยานยนต์

อาคารสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา (สพข.) ซ.ตรีมิตร กล้วยน้ำไท ถ.พระรามที่ 4 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์: 0-2712-2414 ต่อ 6443
email : aiu@thaiauto.or.th