สมัครสมาชิกวันนี้

  • Silver
  • สมาชิกระดับ Silver
  • ฟรี
  • สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารขั้นพื้นฐานได้
  • ข้อมูลผู้ประกอบการต่างประเทศ
  • ข้อมูลสถิติในประเทศและต่างประเทศ
  • มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ
  • กฎ ระเบียบ นโยบายในประเทศ
  • เทคโนโลยี และงานวิจัย
  • สมัครสมาชิก
กฎระเบียบและข้อกำหนดยานยนต์
กฎระเบียบและข้อกำหนดล่าสุด

ค้นหาข้อมูล

       ยางรถยนต์ ใช้ลมเป็นตัวช่วยซึมซับแรงสั่นสะเทือน และช่วยให้ยางคงรูปอยู่ได้ ด้วยความทนทานของยางยุคใหม่ แรงดันลดลงช้า รั่วยาก ระเบิดยาก จึงทำให้หลายคนละเลยหรือไม่ได้หาความรู้เรื่อง “แรงดันลมยาง” มากนัก

 

 

       อ่าน แง่มุมที่น่าสนใจ หลายประเด็นอาจไม่เคยทราบกันมาก่อน และเกี่ยวข้องกับการใช้งานจริง ไม่เน้นวิชาการลึกล้ำจนยากจะเข้าใจ แต่มีหลักการอ้างอิงควบคู่กัน

 

       ยางไม่รั่วทำไมแรงดันลด
       ดูแล้วยางรถยนต์มีเนื้อหนาหลายมิลลิเมตร และมีโครงสร้างภายในเป็นวัสดุแข็งแรง ถ้าไม่รูรั่ว แรงดันลมยางก็ไม่น่าจะลดลงได้ง่าย ๆ

 

       ในความเป็นจริง เนื้อยางมีรูพรุนขนาดเล็กมาก ๆ อยู่เต็มไปหมด และขอบยางแบบไม่มียางในที่อัดอยู่กับขอบกระทะล้อ ก็อาจมีรูขนาดเล็กอยู่บ้าง แม้แช่น้ำดูแล้วไม่มีฟองอากาศแสดงถึงการรั่ว แต่แรงดันลมยางภายในยางที่สูงหลายเท่าของบรรยากาศปกติ ย่อมซึมออกมาได้บ้าง โดยเฉลี่ยแล้ว ถ้าแรงดันลมลดลงสัปดาห์ละ 1 ปอนด์/ตารางนิ้ว ถือเป็นเรื่องปกติ จึงไม่ต้องยุ่งยากวัดแรงดันลมยางทุกวัน ทำสัปดาห์ละครั้งหรือช้าที่สุด 2 สัปดาห์ต่อครั้ง ก็ได้

 

       อาจดูเหมือนไม่จำเป็น เพราะไม่ค่อยมีใครเติมลมเอง แต่จริง ๆ แล้วควรมีไว้ใช้ส่วนตัว เพราะคนส่วนใหญ่เติมลมตามปั๊มน้ำมัน ซึ่งมีบริการวัดแรงดันลมด้วย และมาตรวัดก็มักจะมีความเพี้ยน เพราะใช้วัดกันนับครั้งไม่ถ้วน บางครั้งพบว่าแสดงผลผิดพลาดกว่า 10 ปอนด์/ตารางนิ้วก็ยังมี จึงควรมีมาตรวัดแรงดันลมยางส่วนตัว และควรเลือกที่มีคุณภาพดี เพื่อความแม่นยำ ในราคาตัวละหลายร้อยบาท
หาก มีปั๊มที่เติมลมเป็นประจำ นาน ๆ ครั้งก็สามารถนำมาวัดเปรียบเทียบกันว่า มาตรวัดของเขาแสดงผลเพี้ยนแค่ไหน ครั้งต่อไปจะได้บอกให้เติมลมให้มีแรงดันตรงตามต้องการ หรือเติมลมตามปั๊มทั่วไป ซึ่งไม่ใช่ที่ประจำ ก็สามารถตรวจสอบแรงดันซ้ำได้อย่างสะดวก

 

       แรงดันลมยาง – ต้องเชื่อคู่มือประจำรถยนต์จริงหรือ

       คนส่วนใหญ่เชื่อว่า ค่าแรงดันลมยางที่ผู้ผลิตรถยนต์แนะนำในคู่มือหรือสติ๊กเกอร์บนตัวถัง มีความน่าเชื่อถือ และต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยไม่สามารถประยุกต์เปลี่ยนไปใช้แรงดันต่างออกไปได้

 

       ถ้าเติมลมยางตามสเป็กนั้นก็ไม่อันตราย แต่อาจไม่ใช่แรงดันลมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับยางรุ่นที่ใช้ตอนนั้นก็เป็นได้ เพราะผู้ผลิตรถยนต์ไม่ทราบเลยว่า หลังจากยางที่ให้มาจากโรงงานประกอบถูกใช้หมดสภาพ จะถูกเปลี่ยนเป็นยางรุ่นใด มีโครงสร้างอย่างไร แต่ก็ต้องแนะนำไว้ล่วงหน้าให้เสมือนคาเฉลี่ย ซึ่งอาจไม่ใช่ดีที่สุด แต่สามารถใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหา

 

       ตามหลักวิชาการที่ลึกกว่านั้น อาจมีค่าแรงดันลมยางซึ่งเหมาะสมกว่า และต่างจากคำแนะนำในคู่มือประจำรถ เพราะยางแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ แม้เป็นขนาดเดียวกัน แต่ก็มีโครงสร้างภายใน และเนื้อยางที่แตกต่างกัน หรืออีกในกรณี ถ้าเปลี่ยนขนาดยางทั้งความกว้างหรือแก้มยางต่างออกไป ก็ยิ่งมีแนวโน้มว่า อาจไม่ต้องเติมลมยางตามกำหนดนั้นเสมอไป

 

       ในการใช้งานจริง เราสามารถเลือกเติมลมยางด้วยลมยางที่แตกต่างจากการแนะนำนั้นได้ โดยเริ่มจากการทำตามคำแนะนำก่อน ขับใช้งานเพื่อจับอาการต่าง ๆ เช่น ความนุ่มนวล การเกาะถนน อัตราเร่ง และอื่น ๆ สักวันสองวัน แล้วก็ลองลดแรงดันลมยางลงสัก 2 ปอนด์/ตารางนิ้ว ขับไปวันสองวันเพื่อเปรียบเทียบอาการกัน ต่อมาก็เพิ่มแรงดันขึ้นจากการแนะนำ 2 ปอนด์/ตารางนิ้ว และก็ทำเหมือนเดิม

 

       ต่อมาถ้ายังมีเวลา ก็เพิ่มหรือลดจากการแนะนำสัก 4-5 ปอนด์/ตารางนิ้ว แล้วจับอาการดูว่าอัตราเร่งอืดหรือไม่ กระเด้งกระด้างไปหรือไม่ ลื่นไปหรือไม่ แล้วค่อยตัดสินใจว่ายางชุดนั้น ควรเติมลมยางด้วยแรงดันเท่าไร เหมาะสมกับลักษณะการขับของตนเองหรือไม่ รถยนต์รุ่นเดียวกันยางรุ่นเดียวกัน แต่ต่างคนขับกัน ก็อาจจะใช้แรงดันลมยางที่ชอบต่างกันก็เป็นไปได้

 

       โดยทั่วไป หากมีการเติมลมต่างจากการแนะนำของผู้ผลิตรถยนต์ในคู่มือ หรือสติ๊กเกอร์ ก็พบว่าไม่น่าต่างเกิน + - 5 ปอนด์ / ตารางนิ้ว

 

       หากแรงดันลมยางอ่อนเกินไป เร่งแล้วจะหนืด อัตราเร่งไม่ดี เพราะยางจะย้วยจึงหมุนยาก แต่รู้สึกว่าเกาะถนน เพราะมีหน้าสัมผัสมากขึ้น ในระยะยาวยางจะอายุสั้น เพราะมีการขยับตัวมาก อาจบวมแตกปริบริเวณแก้มยางได้

 

       ถ้าแรงดันสูงหรือที่เรียกว่าแข็งมาก ยางจะหมุนง่าย เพราะหน้ายางและแก้มยางมีความตึง แต่จะลดการเกาะถนนลงไป เพราะหน้าสัมผัสมีแรงกดเต็มที่บริเวณแนวกลางของหน้ายางเท่านั้น และกระด้าง ในการแข่งขันประหยัดน้ำมัน จึงมักเติมลมยางแข็งกว่าปกติถึง 10-30 ปอนด์/ตารางนิ้ว

 

       เมื่อตัดสินใจใช้แรงดันใด ๆ สักเดือน ให้ดูการสึกหรอของหน้ายางด้วย หากสึกหรอแถบกลางมากกว่า แสดงว่าแรงดันลมยางสูงไป แต่ถ้าริมทั้ง 2 ข้างสึกหรอมากกว่าแถบกลาง แสดงว่าแรงดันต่ำไป (ศูนย์ล้อ และระบบช่วงล่างต้องปกติ)

 

       หากไม่ใช่เป็นคนที่จับอาการของรถยนต์ในการขับได้ดี หรือความรู้สึกช้า ไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ ก็ควรปฏิบัติตามคู่มือประจำรถยนต์

 

       เติมไนโตรเจน
       หลายคนสนใจ เพราะความเชื่อหรือโฆษณาว่า เติมไนโตรเจน 100% แทนลม (อากาศปกติ) แล้วแรงดันลมยางจะเปลี่ยนแปลงน้อยเมื่อยางร้อน

 

       ในความเป็นจริง อากาศก็มีไนโตรเจนผสมอยู่กว่า 75% อยู่แล้ว มีออกซิเจนกว่า 20% การขยายตัวของอากาศปกติกับไนโตรเจนล้วน ๆ เมื่อเกิดความร้อนขึ้น จึงไม่ต่างกันมาก

 

       ปัญหาที่สำคัญกว่าและถูกมองข้าม เป็นเรื่องของความชื้นหรือไอน้ำที่ผสมอยู่ในลมที่ถูกเติม เพราะปั๊มลมส่วนใหญ่มีการกรองเอาไอน้ำออกไม่หมด หรือไม่กรองเลย ซึ่งในการเติมลมยางตามสถานที่ทั่วไป จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงลมผสมไอน้ำได้ เพราะไม่สะดวกที่เราจะตรวจสอบเมื่อความชื้นกัลบกลายเป็นน้ำ แรงดันรวมของยางจะลดลง แต่เมื่อยางร้อน น้ำจะกลายเป็นก๊าซ แรงดันจะเพิ่มขึ้น

 

       ดังนั้น การเติมลมด้วยไนโตรเจนล้วน ๆ จึงอาจจะดีในแง่ที่มีความชื้นปนอยู่น้อยมาก หากอยากเติม ก็ควรสะดวกทั้งในการเติมครั้งแรก และการเติมครั้งต่อ ๆ ไป ถ้าเติมได้แค่ครั้งแรกแล้วครั้งต่อไปเติมด้วยลมธรรมดา (ที่มีไอน้ำปน) ประโยชน์ของไนโตรเจนก็จะลดลงไป

 

       ขับทางไกล / บรรทุกหนัก / เพิ่มแรงดันลม
       การขับทางไกลด้วยความเร็วและต่อเนื่อง ยางจะเกิดความร้อนมากกว่าปกติ จากการเคลื่อนไหวของยางในทุกส่วน ลมยางที่ร้อนจะขยายตัวเพิ่มแรงดัน จนลดการเกาะถนน และการทรงตัว ถ้าแรงดันเพิ่มขึ้นมาก ๆ และร้อนจัด ยางก็อาจระเบิดได้

 

       บางคนก็เลยคิดและทำแบบผิด ๆ โดยเติมลมยางอ่อนกว่าปกติ เพราะคิดว่าจะเป็นการเผื่อล่วงหน้า เวลายางร้อน แรงดันจะได้ไม่เพิ่มขึ้นเกิน แต่ในการใช้งานจริง แรงดันกลับเพิ่มขึ้นมาก เพราะยางร้อนจากการบิดตัวง่าย และเป็นทั้งแรงดันที่สูง และเป็นลมร้อน ยางจึงเสี่ยงต่อการระเบิด

 

       ในความเป็นจริง ยางที่จะใช้ในการขับทางไกลหรือความเร็วสูงอย่างต่อเนื่อง ควรเติมไว้ให้มีแรงดันลมสูงกว่าปกติ 2-3 ปอนด์/ตารางนิ้ว เพื่อเป็นการลดการบิดตัวของยาง จึงทำให้ความร้อนน้อยกว่ายางที่ลมอ่อน แม้จะเริ่มต้นด้วยแรงดันที่สูงกว่า แต่เมื่อร้อนแล้วมีการขยายตัวของลมยางน้อยกว่า การเพิ่มแรงดันจึงมีไม่มาก และไม่ร้อนจัด

 

       หากบรรทุกน้ำหนักเพิ่มขึ้นก็ควรเพิ่มแรงดันลมยาง ไม่เฉพาะแต่ปิกอัพ แต่รวมถึงรถเก๋งด้วย เพราะถ้าใช้แรงดันลมยางเท่าเดิม หน้ายางสัมผัสจะมากขึ้น ยางจะแบนลง บริเวณที่แบนลงจึงหมุนยากขึ้น ตามหลักการง่าย ๆ คือ ลมยางมีขอบเขตการรับน้ำหนักตามแรงดันที่ไส่ไว้ เช่น หน่วยแรงดันเป็นปอนด์/ตารางนิ้ว ถ้ายางล้อนั้นมีน้ำหนักกดลง 300 ปอนด์ เติมลมไว้ 30 ปอนด์/ตารางนิ้ว ยางก็จะถูกกดลงจนมีหน้าสัมผัส 10 ตารางนิ้ว

 

image-140

 

       ถ้ามีน้ำหนักกดลงมาเพิ่มเป็น 420 ปอนด์ หน้าสัมผัสก็ต้องเพิ่มเป็น 14 ตารางนิ้ว นั่นคือ ยางต้องแบนลง ลดความกลม หมุนยาก อัตราเร่งอืด และยางต้องถูกบิดตัวมาจนร้อนมาก เพราะเมื่อรถยนต์แล่น ก็จะพยายามทำให้ยางกลม ในขณะที่หน้าสัมผัสของยางแบนกว่าปกติ

 

       เรื่องต่าง ๆ ของยางรถยนต์ล้วนมีความน่าสนใจ เพราะเกี่ยวข้องทั้งสมรรถนะ และความปลอดภัย

 

       THAIDRIVER
       ที่มา : http://automobile.mweb.co.th/news/

 

ศูนย์สารสนเทศยานยนต์

ติดต่อ ศูนย์สารสนเทศยานยนต์ สถาบันยานยนต์

อาคารสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา (สพข.) ซ.ตรีมิตร กล้วยน้ำไท ถ.พระรามที่ 4 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์: 0-2712-2414 ต่อ 6443
email : aiu@thaiauto.or.th