สมัครสมาชิกวันนี้

  • Silver
  • สมาชิกระดับ Silver
  • ฟรี
  • สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารขั้นพื้นฐานได้
  • ข้อมูลผู้ประกอบการต่างประเทศ
  • ข้อมูลสถิติในประเทศและต่างประเทศ
  • มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ
  • กฎ ระเบียบ นโยบายในประเทศ
  • เทคโนโลยี และงานวิจัย
  • สมัครสมาชิก
กฎระเบียบและข้อกำหนดยานยนต์
กฎระเบียบและข้อกำหนดล่าสุด

ค้นหาข้อมูล

      เทคโนโลยี ของยางรถยนต์ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ และความทนทานเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งานด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ RUNFLAT TYRE วิ่งได้แม้ไร้ลม

 

 

       ยางรถยนต์ในยุคแรกสุดเป็นยางตัน มีความทนทานแต่ขาดความนุ่มนวล และมีน้ำหนักมาก จากนั้นจึงพัฒนาเป็นยางกลวง ที่ภายในมียางบาง ๆ ซ้อนอยู่เพื่อบรรจุลม ทำให้มีน้ำหนักเบาลง และทนทานพอสมควร ผลิตง่าย และต้นทุนต่ำ แต่ถ้าถูกของแหลมแทงทะลุยางชั้นนอก เข้าไปถึงยางชั้นใน ลมก็จะรั่วออกอย่างรวดเร็ว เพียงไม่กี่วินาทียางก็แบนสนิท หรืออาจถึงขั้นยางระเบิด ทำให้รถยนต์เสียการทรงตัวได้  

 

       เพื่อลบจุดด้อยของยางแบบมียางใน จึงมีการพัฒนาสู่ยาง TUBELESS ไม่มียางใน ใช้ยางนอกที่มีเนื้อหนา และโครงสร้างแข็งแรงขึ้น มีขอบอัดแน่นกับขอบกระทะล้อในการเก็บลม เมื่อถูกของแหลมทิ่มแทง และรูไม่ใหญ่นัก เนื้อของยางจะพยายามบีบรูนั้นไว้ ทำให้ลมรั่วออกช้า หรือถ้าของแหลมนั้นยังปักติดกับหน้ายาง บางครั้งพบว่าผ่านไปหลายวันกว่ายางจะแบน

 

       ยางรถยนต์ยุคใหม่ นอกจากจะไม่ใช้ยางในแล้ว ยังใช้โครงสร้างแบบเรเดียลเสริมใยเหล็ก แทนโครงสร้างแบบเดิมที่เป็นผ้าใบ จึงมีความแข็งแรงรักษารูปทรงได้ดีกว่า ไม่บิดเบี้ยวเมื่อหมุนด้วยความเร็วสูง และหน้ายางสัมผัสพื้นได้เต็มที่เสมอ

 

       รถยนต์รุ่นใหม่ ๆ มีสมรรถนะสูงขึ้น มีกำลังหลายร้อยแรงม้า ทำความเร็วแตะ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้เป็นเรื่องปกติ ยางรถยนต์จึงต้องถูกออกแบบให้รองรับสมรรถนะนั้นได้ดีด้วย เพราะยิ่งความเร็วสูงขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งมีแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางที่หน้ายางเพิ่มขึ้น ถ้าแตกง่ายก็อันตราย

 

 

image-137-1

 

       รั่วยากแต่ยังรั่วได้
       แม้ยางยุคใหม่จะแตกยาก แต่ถ้าแตกเมื่อไรก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เนื่องจากอัตราเร่ง และความเร็วของรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นจากยุคก่อน

 

       การเปลี่ยนยางอะไหล่อาจไม่ง่ายสำหรับบางคน หรือไม่สะดวกในบางสถานการณ์ เช่น ริมทางหลวงที่มีไหล่ทางแคบ บนไฮเวย์ที่รถยนต์คันอื่นใช้ความเร็วสูง หรือเส้นทางเปลี่ยวในเวลากลางคืน

 

       ในกรณีที่รูรั่วมีขนาดเล็ก แม้ยางรถยนต์จะแบนช้า และไม่เสียการทรงตัวในทันที แต่เมื่อแบนแล้วก็ต้องจอดเปลี่ยน เพราะถ้าฝืนขับต่อไป แก้มยางจะถูกขอบล้อบดกับพื้นถนนจนเสียหาย ต้องทิ้งทั้งเส้นหรืออาจทำให้กระทะล้อบิดเบี้ยวไปด้วย

 

 

image-137-2

 

 

       แม้มียางอะไหล่ แต่ถ้ายางแบนแล้วยังสามารถขับต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง ย่อมดีกว่า ทั้งในด้านการไม่เสียการทรงตัว หรือการขับไปเปลี่ยนยางอะไหล่ในสถานที่ปลอดภัยและสะดวก

 

       หลายปีที่ผ่านมา บริษัทยางรถยนต์บางแห่ง จึงมีการออกแบบและผลิตยางรถยนต์แบบพิเศษ ที่เมื่อลมรั่วออกจนหมดแล้ว ก็ยังขับต่อไปได้อีกหลายสิบกิโลเมตร ด้วยความเร็วพอสมควร โดยที่ยางไม่เสียหาย

 

       ในช่วงแรก ยางแบบพิเศษนี้ มีจุดด้อย คือ ต้นทุนการผลิตสูงกว่ายางทั่วไป การถอดใส่ยางกับกระทะล้อต้องใช้เครื่องมือพิเศษ และต้องใช้กระทะล้อแบบเฉพาะ จึงไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

 

        PAX SYSTEM - จุดเริ่มต้นของ RUNFLAT TYRE
        เริ่มต้นเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว เป็นยางแบบพิเศษ ต้องใช้กับ กระทะล้อแบบเฉพาะ ไม่สามารถใส่กับกระทะล้อทั่วไปได้ ก่อนจะใส่ยางเข้าไป กระทะล้อจะถูกสวมด้วยแหวนพลาสติกแข็งและหนารัดอยู่โดยรอบ ซึ่งมีน้ำหนักไม่น้อย เป็นการเพิ่มภาระในการหมุน

 

       ถ้ายางแบนลง แหวนพลาสติกจะทรุดลงมากดด้านหลังของหน้ายาง ทำให้แก้มยางทรุดตัวลงไม่สุด ขอบกระทะล้อจึงไม่บดลงบนแก้มยาง

 

image-137-3

 

       ขอบกระทะล้อถูกออกแบบให้บีบกับขอบยางแน่นเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันยางหลุดจากกระทะล้อ เวลาขับขณะแรงดันลมยางลดลงมาก ๆ หรือไม่มีลมเลย

 

       เนื่องจากต้องใช้กระทะล้อ และยางแบบพิเศษ การผลิต และการถอดใส่จึงต้องใช้เครื่องมือเฉพาะ ซึ่งยุ่งยากและมีราคาแพง แต่ก็ทำงานได้ผลเมื่อยางแตก เพราะแก้มยางจะยุบตัวลงน้อยมาก ภาระการรับน้ำหนักเปลี่ยนไปตกอยู่ที่วงแหวนพลาสติก

 

       ผู้ผลิตระบุว่า เมื่อยางแบนจะสามารถขับต่อไปได้ด้วยความเร็ว 80 กม./ชม. เป็นระยะทางสูงสุดถึง 200 กิโลเมตร แต่ความนุ่มนวลจะลดลง เพราะไม่มีแรงดันลมช่วยซึมซับแรงสั่นสะเทือน มีเพียงหน้ายางที่ถูกกดโดยตรงจากแหวนพลาสติก ซึ่งหนา แข็ง และไม่มีความยืดหยุ่น

 

       สาเหตุที่ทำให้ PAX SYSTEM ไม่เป็นที่นิยมในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็เพราะต้องเป็นพิเศษทั้งยาง วงแหวนไส้ใน และกระทะล้อ รวมทั้งมีความยุ่งยากในการถอดใส่ ช่วงแรกจึงมีการจำหน่ายเป็นอุปกรณ์เลิกติดตั้งพิเศษในรถยนต์เพียงไม่กี่รุ่น เท่านั้น และถูกนำไปติดตั้งในรถยนต์ต้นแบบที่จัดแสดงตามมอเตอร์โชว์ต่าง ๆ มากกว่าใช้งานจริง

 

image-137-4

 

       กระทั่งในช่วงต้นปี 2002 นี้เอง ที่ PAX SYSTEM ถูกนำไปติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถยนต์เรโนลต์ ซีนิก รุ่นสูงสุด ( ปี 2001 เป็นอุปกรณ์เลือกติดตั้งพิเศษ ) ซึ่งคาดว่าจะมียอดจำหน่ายปีแรกหลายหมื่นคัน

 

       ปัจจุบันมีผู้ผลิตยางรถยนต์ 4 ราย ที่มียาง PAX SYSTEM ในสายการผลิต คือ มิชลิน พิแรลลี กู๊ดเยียร์ และซูมิโตโม (ดันลอป ญี่ปุ่น) โดยคาดว่าตลาดของ PAX SYSTEM จะขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ แต่เป็นไปอย่างช้า ๆ เพราะราคาแพง และความยุ่งยาก รวมทั้งมีเทคโนโลยีอื่นมาเบียด ซึ่งมีราคาถูกกว่า และใช้งานง่ายกว่า

 

       ตัวเลขระบุขนาดยาง PAX SYSTEM ของบางผู้ผลิต มีความแตกตางจากยางทั่วไป เช่น 205-650R440A ซึ่งมีขนาดเทียบเท่ากับยางธรรมดาขนาด 205/65R15

 

image-137-5

 

       205 หมายถึง ส่วนกว้างสุดของยาง (ไม่ใช่ความกว้างหน้ายาง) เมื่อลมยางปกติ หน่วยเป็นมิลลิเมตร

 

       650 หมายถึง เส้นผ่าศูนย์กลางของยาง เมื่อเติมลมตามมาตรฐาน หน่วยเป็นมิลลิเมตร
R หมายถึง โครงสร้างยางแบบเรเดียล

 

       440 หมายถึง เส้นผ่าศูนย์กลางขอบนอกของแหวนพลาสติก หน่วยเป็นมิลลิเมตร
A หมายถึง Asymmetrical Seats มีแหวนยางวางอยู่ด้านหนึ่งของกระทะล้อ

 

       PAX SYSTEM มีข้อดี คือ ถ้าแรงดันลมยางปกติหรือยางไม่แบน จะมีความนุ่มนวลเหมือนยางทั่วไป เพราะไม่ได้เสริมความหนาที่แก้มยาง

 

       เทคโนโลยี…ยางแก้มหนา เหนือกว่าด้วยความสะดวก
       PAX SYSTEM ทำงานได้ดีก็จริง แต่แพง และยุ่งยาก เพราะต้องพิเศษทั้งกระทะล้อ วงแหวนไส้ใน ยาง และอุปกรณ์สำหรับถอดใส่ด้วย จึงมีการพัฒนาสู่แนวทางอื่น ไม่ต้องมีวงแหวนรัดอยู่กับกระทะล้อ ไม่ต้องใช้ขอบยางทรงแปลก จนต้องใช้กระทะล้อแบบเฉพาะ โดยใช้วิธีง่าย และไม่ซับซ้อน คือ ออกแบบแก้มยางให้หนา และมีโครงสร้างที่แข็งแรงกว่ายางปกติ เพื่อให้เมื่อยางแบน แก้มยางจะยังดันอยู่กับขอบกระทะล้อ และสามารถรองรับการบดลงมาของขอบกระทะล้อได้นาน โดยไม่เกิดความเสียหาย ที่สำคัญ คือ สามารถใช้กับกระทะล้อ และเครื่องมือถอดใส่บางแบบธรรมดาได้

 

image-137-6

 

       ยางแก้มหนานี้ เมื่อยางแบนจะทำงานได้มีดีเท่า PAX SYSTEM เพราะไม่มีแหวนพลาสติกหนารับน้ำหนักแทนลม เป็นการรับน้ำหนักด้วยแก้มยางทั้ง 2 ข้าง แต่ก็ไม่ทำให้รถยนต์เสียการทรงตัว และสามารถขับต่อด้วยความเร็วกกว่า 50 กม./ชม. เป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร

 

       แม้แก้มยางจะถูกออกแบบให้รองรับการขับขณะยางแบนได้ แต่ก็มีขอบเขตจำกัดย่อมดีกว่าแน่ ถ้ารู้ตัวว่ายางแบนแล้ว พยายามขับให้ช้า และระยะทางสั้นที่สุด เพื่อให้แก้มยางบอบช้ำน้อยที่สุด จะได้ปะรูรั่ว แล้วนำกลับมาใช้อีกได้

 

       ผู้ผลิตยางรถยนต์หลายราย เริ่มผลิตยางแบบนี้ออกจำหน่ายแล้ว โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น กู๊ดเยียร์ เรียกกว่า EMT – Extended Mobility Technology มีตั้งแต่ขนาด 15-19 นิ้ว ซีรีส์ 60-35 รวมแล้วเกือบ 20 ขนาด โดยเป็นยางมาตรฐานของเชฟโรเล็ต คาร์เวต ในปี 1997 พลีมัต พราวเลอร์ และบีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 7 PL ในปี 1998 และมินิ คูเปอร์ ในปี 2001

 

       บริดจสโตน เรียกเทคโนโลยีนี้ว่า RFT – RUNFLAT TIRE ปัจจุบันเป็นยางมาตรฐานของบีเอ็มดับเบิลยู Z8 ในรุ่น Potenza REO40 ด้านหน้าขนาด 245/45R18 ด้านหลังขนาด 275/65R18 และนิสสัน ไฮเปอร์มินิ ในรุ่น Ecopia EP02 ด้านหน้าขนาด 145/65R14 ด้านหลังขนาด 165/60R14

 

       แม้ยางแบบนี้จะสามารถใช้ร่วมกับกระทะล้อทั่วไปได้ แต่ก็มีข้อเสีย คือ แก้มยางที่หนาขึ้น และถูกเสริมความแข็งแรงทำให้ดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้น้อยลง มีความกระด้างเพิ่มขึ้นตลอดการขับ

 

       Internal Support RUNFLAT System คล้าย PAX SYSTEM
       Internal Support RUNFLAT System อีกเทคโนโลยีจากบริดจสโตน แนวคิดในการออกแบบคล้ายกับ PAX SYSTEM แต่เปลี่ยนจากแหวนพลาสติกหนา และแข็ง มาเป็นแหวนโลหะทรงโค้งบางโปร่ง ปลายทั้ง 2 ด้านเป็นยาง ล้อมรัดอยู่กับกระทะล้อ

 

       เมื่อยางแบน กระทะล้อ และวงแหวนโลหะจะทรุดกดลงบนด้านหลังของหน้ายาง แก้มยางจะยุบตัวลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขอบกระทะล้อไม่บดลงบนแก้มยาง ขับต่อได้นานโดยยางไม่เสีย

 

       มีจุดด้อยคล้าย PAX SYSTEM คือ ยุ่งยาก และแพง ข้อดีที่เหมือนกันคือ นุ่มนวลในการใช้งานปกติ เพราะแก้มยางไม่แข็ง

 

       เด่นกว่า PAX SYSTEM ตรงที่แหวนโลหะมีน้ำหนักเบา ล้อ และยางไม่หนักขึ้นมาก จึงไม่เป็นภาระแก่ช่วงล่างมากนัก รับน้ำหนักได้ดีกว่ายางแบบแก้มหนา ขับได้เร็ว และไกลกว่า โดยไม่ทำให้ยางเสียหายเพิ่มเติมหลังจากยางแบน และเมื่อยางแบนจะนุ่มนวลกว่า PAX SYSTEM เพราะขอบยางที่รองรับแหวนโลหะอยู่นั้น สามารถยืดหยุ่นได้ ไม่แข็งตายตัวเหมือนแหวนพลาสติกของ PAX SYSTEM

 

       แม้ทางบริดจสโตนจะระบุว่า แหวนโลหะ Internal Support RUNFLAT System นี้ สามารถใส่ได้กับกระทะล้อทั่วไป แต่คาดว่าจะได้รับความนิยมช้า และน้อยกว่าบางแก้มหนา RFT เพราะมีขั้นตอน และชิ้นส่วนมากกว่า

 

       เซ็นเซอร์แรงดันลมยาง อุปกรณ์เสริมที่อาจจำเป็น
       ยางแบบ RUNFLAT TIRE จะทำให้ยางไม่ค่อยยุบตัวลงเมื่อลมรั่วออก ผู้ขับบางคนจึงอาจไม่ทราบว่ายางแบน และขับต่อไปเป็นระยะทางไกลจนยางเสียหาย

 

       ผู้ผลิตยางแบบ RUNFLAT TIRE บางราย จึงแก้ปัญหาด้วยการใช้จุกลมแบบพิเศษ มีเซ็นเซอร์วัดแรงดันลมยางในตัว ทำงานด้วยแบตเตอรี่ขนาดเล็ก ส่งสัญญาณไปยังมอนิเตอร์ในห้องโดยสาร เพื่อให้ผู้ขับทราบว่า ยางแต่ละเส้นมีแรงดันอยู่ในระดับปกติหรือไม่

 

       แนวโน้มในอนาคต
       คาดว่ายางแบบมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ที่ต้องใช้แรงดันลมช่วยรับน้ำหนัก ถ้าแบนแล้วขับต่อไม่ได้ จะคงความนิยมทั้งจากผู้ผลิตและผู้บริโภคไปอีกไม่น้อยกว่า 5-10 ปี

 

       เนื่องจากในปัจจุบัน ยางแบบมาตรฐานก็พัฒนาให้มีความทนทานพอสมควรแล้ว ถ้ารูรั่วไม่ใหญ่นัก หรือของแหลมยังติดคาอยู่ ลมก็จะรั่วออกช้ามาก รถยนต์จึงไม่เสียการทรงตัวในทันที สามารถประคองหาที่ปลอดภัยเปลี่ยนยางอะไหล่ได้ ไม่บ่อยนักที่จะพบว่าลมยางรั่วออกหมดอย่างรวดเร็ว

 

       ส่วนยางแบบพิเศษ ที่ขับได้แม้ไร้ลมยาง จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ถ้าสามารถลดราคา และความยุ่งยากในการใช้ลงได้ โดยมีแนวโน้มว่ายางแบบแก้มหนา ซึ่งใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน และมีราคาไม่แพงกว่าปกติมากนัก จะได้รับความนิยมมากกว่ายางแบบมีวงแหวนเป็นไส้ใน และจะแพร่หลายมากในกลุ่มรถยนต์สมรรถนะสูง ที่ไม่ควรเสียการทรงตัวเมื่อยางแตก

 

       เมื่อยางแตกก็ขอแค่รถยนต์ไม่เสียการทรงตัว สามารถขับต่อไปในที่ปลอดภัย และสะดวกต่อการเปลี่ยนยางอะไหล่ โดยใช้ความเร็วพอประมาณ 5-10 กม./ชม. ไม่ให้กีดขวางการจราจรมากนัก และยางเส้นนั้นไม่เสียหายก็พอ

 

       ป้องกัน ดีกว่าแก้ไข
       แม้มีหลายบริษัทที่ผลิตยางรถยนต์ต้นแบบ RUNFLAT TIRE สารพัดรุ่นออกจำหน่าย แต่ย่อมดีกว่าแน่ ถ้าสามารถลดความเสี่ยงต่อการยางแบนได้

 

        นอกจากของแหลมคมบาดหรือแทงยางจนเป็นรู้แล้ว การขับ และจอดรถยนต์บางลักษณะ ก็เป็นสาเหตุให้ยางแบนได้ เช่น ขับทับหินหรือกระแทกขอบหลุมบนผิวถนนด้วยความเร็วสูง หรือก้มยางเบียดขอบทาง จนโครงสร้างภายในแตกหักเสียหาย

 

       การป้องกันก็ทำได้ไม่ยาก คือ ลดความเร็วเมื่อขับผ่านถนนขรุขระ และจอดรถยนต์ให้ห่างขอบทางสักนิด

 

       THAIDRIVER
       ที่มา : http://automobile.mweb.co.th/news/

 

ศูนย์สารสนเทศยานยนต์

ติดต่อ ศูนย์สารสนเทศยานยนต์ สถาบันยานยนต์

อาคารสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา (สพข.) ซ.ตรีมิตร กล้วยน้ำไท ถ.พระรามที่ 4 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์: 0-2712-2414 ต่อ 6443
email : aiu@thaiauto.or.th