ค่ายรถโลกตบเท้าลงทุนผลิตแบตเตอรี่อีวีในไทย รับนโยบายรัฐหนุนรถไฟฟ้า ค่ายรถทั่วโลกเตรียมเพิ่มกำลังผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในไทยมากยิ่งขึ้น หลังรัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนด้านผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ขณะที่ตลาดรถยนต์ไฮบริดในประเทศกำลังขยายตัว นายอันเดรอัส เลทเนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เดมเลอร์ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมนีวางแผนเปิดโรงงานแบตเตอรี่ขนาด 4.8 หมื่นตารางเมตรในไทยช่วงต้นปี 2562 ภายใต้การบริหารโดยหน่วยธุรกิจของเมอร์เซเดส ซึ่งโรงงานดังกล่าวจะเน้นประกอบแบตเตอรี่รถอีวีให้เมอร์เซเดสโดยเฉพาะ ทั้งนี้ เมอร์เซเดสกำลังวางแผนขยายโรงงานผลิตแบตเตอรี่ออกไปอีก 6 แห่งทั่วโลก ที่ประกอบด้วยในสหรัฐ จีน และไทย โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เมอร์เซเดสประกาศลงทุน 100 ล้านยูโร หรือกว่า 3,900 ล้านบาท จนถึงปี 2563 เพื่อขยายโรงงานประกอบรถยนต์และสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย นิกเกอิรายงานว่า แผนขยายโรงงานผลิตของเมอร์เซเดสเกิดขึ้นขณะที่ความนิยมรถยนต์ไฮบริดในไทยกำลังเพิ่มขึ้น โดยเมื่อปี 2560 รถไฮบริดคิดเป็นสัดส่วน 40% ของยอดขายรถในไทยของบริษัทขณะเดียวกันรายงานระบุว่า บีเอ็ม ดับเบิลยูบริษัทรถยนต์เยอรมนีรายใหญ่อีกรายกำลังจะลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ที่ จ.ระยอง ซึ่งจะเป็นโรงงานแห่งที่ 4 ของบริษัท หลังตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในเยอรมนี สหรัฐ และจีน โดยปัจจุบันบีเอ็มดับเบิลยูประกอบรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด 4 รุ่นในไทย และจำหน่ายรถยนต์รุ่นดังกล่าวได้ 1,300 คัน
นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.อยู่ระหว่างกำหนดมาตรฐานตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอสเคิร์ฟ) สอดรับกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมของรัฐบาลก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560-มีนาคม 2561) กำหนดมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้ว 45 เรื่อง คิดเป็นความคืบหน้า 38.46% แบ่งเป็นอุตสาหกรรมเดิม 22 เรื่อง และกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต 23 เรื่อง จากเป้าหมายทั้งหมด 117 เรื่อง ตั้งเป้ากำหนดมาตรฐานครบก่อนสิ้นปีงบประมาณคือเดือนกันยายน 2561 โดยกลุ่มต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่มีเพียง 2 กลุ่ม คืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิง ชีวภาพและเคมีชีวภาพดำเนินการครบแล้ว ที่เหลือยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร, หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ยังดำเนินการไม่เสร็จ นายณัฐพลกล่าวถึงการจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) เพื่อยกระดับขีดความสามารถเอสเอ็มอีว่า มีการประกาศใช้แล้ว 20 มาตรฐาน ปีนี้กำหนดเพิ่มเติมอีก 20 มาตรฐาน ได้แก่ กลุ่มมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อาทิ น้ำมันกฤษณา ลูกหมากรถยนต์ และกลุ่มมาตรฐานการให้บริการ อาทิ การบริการล้างรถ การบริการซักอบรีด การบริการร้านกาแฟ และเตรียมประกาศมาตรฐานยางล้อเป็นมาตรฐานบังคับ โดยอยู่ระหว่างการตราพระราชกฤษฎีกา และจะประกาศใช้ภายในปีนี้ เพื่อรองรับศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ