สมัครสมาชิกวันนี้

  • Silver
  • สมาชิกระดับ Silver
  • ฟรี
  • สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารขั้นพื้นฐานได้
  • ข้อมูลผู้ประกอบการต่างประเทศ
  • ข้อมูลสถิติในประเทศและต่างประเทศ
  • มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ
  • กฎ ระเบียบ นโยบายในประเทศ
  • เทคโนโลยี และงานวิจัย
  • สมัครสมาชิก
ข่าวสารยานยนต์
อ่านข่าวสารล่าสุด

ค้นหาข้อมูล

ความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรม

        สมชาย หาญหิรัญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย ถึงแนวทางการเชื่อมโยงเอสเอ็มอี ไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ว่า ขณะนี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ไปประสานงานกับบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาอยู่ในซัพพลายเชนระดับโลกมากขึ้น  โดยขณะนี้ได้มี "บริษัทขนาดใหญ่" ในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลายรายแสดงความสนใจที่จะร่วมมือในแนวทางดังกล่าว เช่น บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ ซึ่งจะเข้ามาเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ไทยให้สามารถยกระดับการผลิตเพิ่มขึ้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 31 ตุลาคม 2560

 
 

 

    กระแส รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ที่กำลังค่อยๆกลืนกินรถยนต์ที่ใช้แก๊สและน้ำมันให้หายไปเรื่อยๆ โดยขณะที่หลายประเทศทั่วโลกได้ตั้งเป้านโยบายส่งเสริมการใช้รถอีวี พร้อมๆกับประกาศยกเลิกการผลิตและการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีการประเมินว่า นอร์เวย์ จะเป็นประเทศแรกของโลกที่บรรลุเป้าหมายผลักดันการใช้รถยนต์อีวีแบบ 100% ในปี 2025  รัฐบาลหลายประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายที่เกื้อหนุนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมากขึ้น ตัวอย่างจาก เยอรมนี ที่ประกาศนโยบายเมื่อปีก่อนโดยรัฐบาล จะออกมาตรการทางภาษีเพื่อบังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์ยุติการจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง แล้วหันมาใช้พลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานที่ไม่ปล่อยมลพิษแทนภายในปี 2030 ทั้งยังเสนอให้กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) หันมาพิจารณามาตรการดังกล่าวร่วมกัน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 ตุลาคม 2560

 
 

 

    วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป จีนจะสามารถส่งรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาขายในเมืองไทยโดยไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงการค้าอาเซียน-จีน หรือ "เอฟทีเอ" เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า พยายามจูงใจให้ค่ายรถต่างๆ มาตั้งโรงงานผลิตหวังให้ไทยเป็นศูนย์กลาง หรือฮับ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค แต่เมื่อมีเงื่อนไขในข้อตกลงการค้าอาเซียนจีน กรณีรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ ส.อ.ท. เรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงที่เกี่ยวข้องเร่งทบทวนข้อตกลงดังกล่าว          โดยให้เหตุผลว่าอัตราภาษี 0% อาจส่งผลกระทบต่อแผนส่งเสริมต่างชาติใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค เนื่องจากราคารถยนต์อีวีที่นำเข้าจากประเทศจีนตามข้อตกลงจะถูกกว่าการลงทุนผลิตในประเทศมาก  นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. ออกโรงแนะแนวทางว่า อยากให้ถอดรถยนต์ไฟฟ้าออกมาจากกรอบเอฟทีเอ แลกกับสินค้าประเภทอื่นแทน หรือไม่เช่นนั้นต้องหาแนวทางอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น การออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ชั้นสูง เป็นต้น   ความห่วงใยของเอกชนในเรื่องนี้ไม่เพียงแค่ ส.อ.ท. เท่านั้น หากแต่บรรดาค่ายรถยนต์เองก็กังวลในระดับหนึ่ง

ที่มา : หนังสือพิมพ์  มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 27 ตุลาคม 2560

 
 

 

    "รถเมล์ไฟฟ้า" ที่ไม่ปล่อยไอเสียในระหว่างสัญจร ออกมาวิ่งทั่วเมืองมากยิ่งขึ้นเพื่อลดมลพิษในอากาศ  ในขณะนี้กรุงปักกิ่งของจีนนับว่ามีความก้าวหน้ามากที่สุดในการใช้รถเมล์ไฟฟ้า โดยล่าสุดทางรัฐบาลท้องถิ่นได้เปิดตัวรถเมล์ไฟฟ้าพร้อมเครื่องฟอกอากาศอีก 10 คัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อใช้ลดปริมาณอากาศเสียบริเวณใจกลางเมืองโดยเฉพาะ โดยเครื่องฟอกอากาศบนรถจะช่วยเพิ่มคุณภาพอากาศได้ นอกจากนี้ ทางการยังเตรียมใช้งานรถเมล์ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 4,500 คัน ภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1,300 คัน ทั้งนี้ กรุงปักกิ่งเป็นเมืองที่มีปัญหามลพิษทางอากาศมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งสามารถเล็ดลอดเข้าสู่กระแสเลือดและอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้ อยู่ที่ 73 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรแล้วเมื่อปี 2016 สูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ที่ไม่เกิน 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

ที่มา : หนังสือพิมพ์ โพสต์ ทูเดย์วันที่ 26 ตุลาคม 2560

 

 

   In September 2017, commercial vehicle registrations across the EU remained stable (+0.6%) compared to one year ago. Performances were diverse across the CV segments, with registrations of vans showing a modest increase (+2.1%) but demand for new trucks and buses falling (-6.5% and -9.9% respectively). Spain and Germany were the only markets among the big five to post growth (up 7.8% and 5.5%), while the United Kingdom (-6.0%) and Italy (-1.0%) performed less well than in September last year. Over nine months in 2017, demand for new commercial vehicles remained positive in the EU, with almost 1.8 million new vehicles registered – up 3.3%. Spain continued to drive growth (+14.4%), followed by France (+6.5%), Germany (+2.2%) and Italy (+1.6%). By contrast, CV registrations declined in the United Kingdom (-3.3%) so far in 2017.

ที่มา : acea.be วันที่ 25 ตุลาคม 2560

 

 

     รถยนต์พระที่นั่งองค์แรกแห่งราชสำนักไทยมีการบันทึกไว้ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ที่รู้จักกันว่าเป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” พระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จฯทรงรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศส ได้ซื้อรถเดมเลอร์ เบนซ์ (Daimler Benz)มาไว้ใช้งาน และเมื่อเสด็จฯกลับสยาม ก็ได้ถวายแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไว้ใช้เป็นราชยานยนต์ส่วนพระองค์เป็นคันแรก  รถยนต์พระที่นั่งส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมัยประทับอยู่เมืองโลซานประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ คือ“เมอร์เซเดส-เบนซ์ นูร์เบิร์ก 500 (Mercedes-Benz Nurburg 500)” ซึ่งเป็นรถยนต์พระที่นั่งที่รัฐบาลไทยจัดถวาย รถยนต์ฝรั่งเศสที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดและเสด็จฯทอดพระเนตร ยี่ห้อเดอลาเฮย์ (Delahaye)ผลิตในกรุงปารีส โดยทรงซื้อรถยนต์พระที่นั่งส่วนพระองค์จากเดอลาเฮย์ถึง 4 คัน คือเดอลาเฮย์ โมเดล 135สองประตูเปิดประทุน คาบริโอเล่ต์,เดอลาเฮย์ โมเดล 178เครื่องยนต์หกสูบ สามคาร์บิวเรเตอร์แบบรถแข่ง ตัวถังซาลูน,เดอลาเฮย์โมเดล 178เครื่องยนต์หกสูบ คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว เดิมเป็นตัวถังซาลูน ต่อมาปรับปรุงเป็นแวก้อนติดซันรู้ฟโดยบริษัท ไทยประดิษฐ์, และเดอลาเฮย์ โมเดล 180ตัวถังลีมูซีน เครื่องยนต์หกสูบ สามคาร์บิวเรเตอร์ ฐานล้อยาว มีกระจกกั้นกลางห้องโดยสารกับห้องคนขับ   

ที่มา : หนังสือพิมพ์ แนวหน้า วันที่ 24 ตุลาคม 2560

 

    สมชาย หาญหิรัญ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม มองเห็นการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทย มาทุกยุค ขยายความให้ฟังว่า ภาคอุตสาหกรรม ของไทยเติบโตตามนโยบายส่งเสริมการลงทุน ของรัฐบาล โดยในช่วงปี 2528- 2529 เกิด "จุดเปลี่ยน" สำคัญทำให้อุตสาหกรรมไทย เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่  1. การค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และการเริ่มต้นพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือ อีสเทิร์นซีบอร์ด  และ 2. ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากประเทศต่างๆขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่น กลายเป็น "แรงกดดัน"ให้ญี่ปุ่นต้องปรับค่าเงินเยน ให้แข็งค่าขึ้นเกือบเท่าตัว จึงต้องหาทางออกด้วยการย้ายฐานไปผลิตในประเทศอื่น จึงมุ่งมาลงทุนที่อิสเทิร์นซีบอร์ดเป็นจำนวนมากเพราะมีก๊าซธรรมชาติ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 ตุลาคม 2560

 
 

 

      นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) เปิดเผยว่า ข้อตกลงเขตการค้าอาเซียน - จีน (เอซีเอฟทีเอ) จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2561 นี้ โดยขณะนี้มีความกังวลประเด็นการนำเข้ารถยนต์นั่งไฟฟ้าที่ภาษีจะเหลือ 0% อาจส่งผลกระทบต่อแผนส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย เนื่องจากราคารถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากประเทศจีนถูกกว่า  ประเด็นนี้ สมอ.ต้องขอหารือกับผู้บริหาร กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ก่อน โดยก่อนหน้านี้ ทางกรมศุลได้แจ้งมามายังสมอ.แล้วว่า มีความประสงค์หารือร่วมกับสมอ.ถึงแนวทางการดูแลเรื่องนี้  นายณัฐพลกล่าวว่า สำหรับบทบาทของสมอ.ต่อการกำกับดูแลรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ได้กำหนดแผนงานอย่างชัดเจนในการกำหนดมาตรฐาน ปลั๊กสำหรับชาร์จรถอีวี แบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันมีการกำหนดมาตรฐานทั่วไปปลั๊กแล้ว 6 ประเภท ขณะนี้ทราบว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอให้กำหนดเหลือ 2 ประเภท เพื่อให้การจัดตั้งสถานีชาร์จมีความคล่องตัวมากขึ้น ขณะที่แบตเตอรี่จะมีการจัดตั้งห้องทดสอบ(แล็บ)ภายในปี 2562 มีสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ดูแล ซึ่งแบตเตอรี่จะกำหนดเป็นมาตรฐานบังคับเพราะหากไม่ได้มาตรฐานจะเป็นระเบิดขนาดใหญ่ ที่อยู่ใกล้ผู้ใช้รถ โดยจะมีการประกาศหลังปี 2562  นอกจากนี้ สมอ. อยู่ระหว่างการกำหนดมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวและบริการ เช่น มาตรฐานด้านความสะอาด สารที่ใช้ปรุงแต่ง ฯลฯ ตลอดจนการกำหนดมาตรฐานของอุตสาหกรรมสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว อาทิ กลุ่มของฝาก ของที่ระลึก ที่อยู่อุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอ โดยกลุ่มนี้จะมี 2 มาตรฐานหลักดูแล คือ มาตรฐานอุตสาหกรรมสำหรับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ(เอสเอ็มอีไลท์) ซึ่งสมอ.กำลัง จัดทำคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ช่วงต้นปี 2561 และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.)ซึ่งดำเนินการอยู่แล้ว

ที่มา : หนังสือพิมพ์  แนวหน้า วันที่ 20 ตุลาคม 2560

 
 

 

       นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่าดัชนีเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยเดือนกันยายน 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่2อยู่ที่ระดับ 86.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 85.0 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือนจากเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 86.4 ส่วนดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 101.9 เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องจากการบริโภคภายในประเทศ การส่งออก การลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐ ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคำสั่งซื้อจาก ต่างประเทศเพื่อส่งมอบในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ประกอบกับการบริโภคภายในประเทศเริ่มมีสัญญาณที่ดี เห็นได้จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 80.3 จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 77.8 โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดย่อม ที่ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก ในรอบ 6 เดือน อยู่ที่ระดับ 70.6 หลังจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาปรับลดลงติดต่อกัน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ แนวหน้า วันที่ 19 ตุลาคม 2560

 

 

ศูนย์สารสนเทศยานยนต์

ติดต่อ ศูนย์สารสนเทศยานยนต์ สถาบันยานยนต์

อาคารสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา (สพข.) ซ.ตรีมิตร กล้วยน้ำไท ถ.พระรามที่ 4 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์: 0-2712-2414 ต่อ 6443
email : aiu@thaiauto.or.th