เกาะนโยบายอุตฯยานยนต์โลก หลังหลายประเทศใน “ยุโรป” ประกาศแผนห้ามขายรถที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน-ดีเซล ด้าน “จีน” เล็งเพิ่มรถประหยัดพลังงานควบคู่ยานยนต์สมัยใหม่ ตั้งเป้าภายในปี 2025 มีจำนวน 3 ล้านคัน
ตามข้อตกลงปารีสเรื่องลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2016 ส่งผลให้ประเทศในยุโรปมีนโยบายมุ่งไปสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนตํ่า และหนึ่งในแผนงานที่จะช่วยขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าวนั้น คือการประกาศยุทธศาสตร์การคมนาคมและขนส่งใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการเรื่องคมนาคมขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันยังช่วยให้สหภาพยุโรปคงความสามารถในการแข่งขันทางอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2017 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ประกาศมาตรการเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ประกอบไปด้วย มาตรฐานการปล่อย CO2, การส่งเสริมการใช้งานยานยนต์สะอาด เช่น การใช้งานรถยนต์ของภาครัฐ, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเชื้อเพลิงทดแทน, การส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะหลายประเภทร่วมกันและส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ โดยมาตรการทั้งหมดนี้มีเป้าหมายให้ยุโรปเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมยานยนต์ ระบบดิจิทัล และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์จากนโยบายที่ได้วางไว้ ทำให้หลายประเทศในยุโรปตื่นตัวและวางแผนที่จะประกาศห้ามขายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ อาทิ นอร์เวย์ จะบังคับใช้ในปี 2025, เยอรมนี, สวีเดน เริ่มบังคับใช้ในปี 2030 , ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ ในปี 2040 อย่างไรก็ตาม ไอร์แลนด์ได้เตรียมขยับเวลาให้เร็วขึ้น ช่วงต้นปี 2020 ได้เตรียมร่างกฎหมายเพื่อพิจารณาควบคุมยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษไอเสีย โดยวางเป้าหมายคือห้ามขายรถยนต์เครื่องดีเซล-เบนซินในปี 2030 ไอร์แลนด์เคยตั้งเป้าหมายว่าอีก 10 ปี นับจากนี้ จะต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนท้องถนนถึง 1 ล้านคัน
ขณะที่ประเทศจีน มีโรดแมปยานยนต์ที่ได้ประกาศตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Made in China 2025 ที่ลดการใช้พลังงานและลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมในยานยนต์ โดยจีนวางแผนออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 2020, 2025, 2030 ภายใต้แผนงานจะประกอบไปด้วย การกำหนดอัตราสิ้นเปลืองพลังงานสำหรับรถยนต์ที่ผลิตขึ้นมาใหม่ ที่เป็นสันดาปภายใน มีเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน ซึ่งรวมไปถึงรถยนต์พลังงานผสม โดยกำหนดให้ภายในปี 2020 ต้องมีอัตราสิ้นเปลืองพลังงาน 5 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร จากนั้นในปี 2025 อัตรา 4 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร และในปี 2030 อัตรา 3.2 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร รวมไปถึงเพิ่มสัดส่วนรถยนต์ประหยัดพลังงานที่เป็นตราสินค้าของตัวเอง ให้เป็น 40% ของรถยนต์ที่จำหน่ายทั้งหมด และต้องผลิตชิ้นส่วนสำคัญในประเทศให้ได้ 50% ของชิ้นส่วนทั้งหมดแผนงานต่อมาคือสนับสนุนยานยนต์สมัยใหม่ อาทิ ไฮบริด, ปลั๊ก-อินไฮบริด, แบตเตอรี่อีวี, เซลล์เชื้อเพลิง (BEV, PHEV, FCEV) ซึ่งรัฐมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนรถดังกล่าวให้ได้ 1 ล้านคันในปี 2020 และ 3 ล้านคันในปี 2025 ส่วนประเทศญี่ปุ่นก็มีเป้าหมายเกี่ยวกับยานยนต์สมัยใหม่ในปี 2030 ได้แก่ ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด, แบตเตอรี่อีวี, เซลล์เชื้อเพลิง และคลีน ดีเซล (HEV, PHEV, BEVFCEV, Clean diesel) โดยตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดรถในกลุ่มนี้เป็น 50-70% เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ที่ตั้งไว้ 20-50%ขณะที่ประเทศไทยนั้นรัฐบาลตั้งเป้าให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า อย่างไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด, แบตเตอรี่อีวี (HEV, PHEV, BEV) จำนวน 1.2 ล้านคันภายในปี 2036
ที่มา: https://www.thansettakij.com ฉบับวันที่ 10 ม.ค. 2563