คงอาจกล่าวได้ว่า “รถยนต์ไฟฟ้า” หรือ EV กำลังมาแรงอย่างฉุดไม่อยู่ทั่วโลก สะท้อนออกมาจากยอดขายอีวีทั่วโลก รวมถึงรถปลั๊กอินไฮบริดที่ทะลุ 2 ล้านคัน เมื่อปี 2018 เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปีก่อนหน้านี้ ตามข้อมูลของบริษัทวิจัย เอสแอนด์พี โกลบอล แพลตส์ โดยยอดขายรถอีวีคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วน 54% ขอกยอดขายรถทั้งหมดภายในปี 2040 ซึ่งตลาดอีวีตัวท็อปคงหนีไม่พ้น จีน สหรัฐ และยุโรป “อาเซียน” เองก็นับเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่น่าจับตามองไม่น้อย เพราะมีศักยภาพในการก้าวขึ้นเป็นตลาดอีวีดาวรุ่งพุ่งแรงทั้งในแง่ของขนาดตลาดและการเป็นหมุดลงทุนพัฒนารถอีวีของนานาชาติ ในแง่ของตลาดอีวีนั้นจำนวนรถอีวีในอาเซียนคาดว่าจะคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของรถยนต์บนท้องถนนภายในปี 2025 แบ่งเป็นรถอีวี 4 ล้อ 8.9 ล้านคัน และรถไฟฟ้า 2 ล้อ หรือ 3 ล้อ อีกกว่า 59 ล้านคัน ตามการประเมินของหน่วยงานด้านพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (iRENA) สำหรับปัจจัยหลักที่ผลักดันให้สัดส่วนอีวีอาเซียนเพิ่มขึ้นมาจากนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล โดย “สิงคโปร์” เริ่มมุ่งหน้าเข้าสู่เส้นทางรถยนต์ไฟฟ้ามานับตั้งแต่ปี 2011 ด้วยการออกแผนกลยุทธ์ลดการปล่อยคาร์บอนจากการคมนาคม และเมื่อเดือนธันวาคม 2017 สิงคโปร์เปิด Blue SG บริการแชร์อีวีเริ่มต้นด้วยจำนวนรถ 80 คัน และจุดชาร์จ 30 จุด ด้าน “มาเลเซีย” ประกาศเป้าหมายเพิ่มอีวีบนถนนเป็น 1 แสนคันภายในปี 2030 รวมถึงเปลี่ยนไปใช้รถเมย์ไฟฟ้า 2,000 คันและเพิ่มจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเป็น 1.25 แสนจุด ขณะที่ “อินโดนีเซีย” ระบุว่าจะเพิ่มสัดส่วนอีวีในตลาดรถเป็น 20% ภายในปี 2025 แบ่งเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 2.1 ล้านคัน และรถเก๋ง 2,200 คัน อีกทั้งก่อนหน้านี้ประกาศแบนการขายรถยนต์ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลภายในปี 2040 สำหรับ “ไทย” การผลักดันอีวีช่วงที่ผ่านมาอยู่ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี 2012-2021 ที่ได้รับการอนุมัติเมื่อปี 2015 โดยแผนดังกล่าวส่งผลให้จำนวนรถอีวีไฮบริด ทั้งแบบไฮบริด (HEV) และปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.02 แสนคัน ส่วนรถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1,394 คัน ในปี 2017 จากจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดเพียง 6 หมื่นคันเมื่อปี 2014
ที่มา : หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 13 มีนาคม 2562