ความเป็นไปของงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 39 ซึ่งปิดฉากลงไปแล้ว อาจเป็นดัชนีชี้วัดประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลาปัจจุบันได้พอสมควร หากแต่ในภาพที่กว้างออกไป ภายใต้แนวคิด "ปฏิวัติทุกการเคลื่อนไหว"นอกจากค่ายรถยนต์แต่ละรายจะนำเสนอยนตรกรรมรุ่นใหม่ๆ ที่ประกอบส่วนด้วยนวัตกรรมและการออกแบบที่ล้ำหน้าไปในแต่ละปีแล้ว ประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามองก็คือการมาถึงของรถยนต์พลังงานกึ่งไฟฟ้า และพลังงานไฟฟ้า ที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนผ่านทั้งในมิติของการเป็นผู้นำตลาด และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตในระบบอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตอีกด้วย ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ความพยายามว่าด้วยการส่งเสริมการผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ได้รับการกล่าวถึงอยู่เป็นระยะ หากแต่ ดูเหมือนว่ารูปธรรมที่ชัดเจนทั้งในมิติของนโยบายหรือมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตกลับยังโดดเด่นให้จับต้องได้มากนัก กระทั่งพัฒนาการล่าสุดที่เกิดขึ้นเริ่มปรากฏภาพที่แจ่มชัดขึ้น เมื่อผู้ประกอบการหลายรายต่างทยอยเปิดตัวเทคโนโลยีและรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและกึ่งไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องในห้วงเวลาปัจจุบัน การปรับตัวของผู้ประกอบการยานยนต์เข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ในด้านหนึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐไทยที่พยายามผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งดำเนินควบคู่ไปกับแผนพัฒนาในโครงการพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ด้วยหวังว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้ไหลบ่าเข้ามาช่วยดูดซับภาวะเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ที่มา : หนังสือพิม ผู้จัดการสุดสัปดาห์ วันที่ 6 เมษายน 2561