การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยเป็นผู้ประกอบการดั้งเดิม ที่ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนสายการผลิต เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า
ขณะที่ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ก็จะดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนฯจากประเทศนั้นๆมาด้วย เรียกได้ว่าเข้ามาลงทุนแบบเบ็ดเสร็จ ไม่พึ่งชิ้นส่วนในไทย อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์จากรถยนต์สันดาป สู่รถยนต์ไฟฟ้านั้น เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญมาก และพร้อมจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างจริงจัง จึงได้มีนโยบายส่งเสริมการลงทุน ใช้มาตรการภาษี จูงใจ ดึงค่ายรถยนต์ ให้มาใช้ไทย เป็นฐานการผลิต เพื่อส่งออกไปทั่วโลก การปรับลดภาษีสรรพสามิต โดยรถยนต์ Hybrid (HEV) และ Mild Hybrid (MHEV) ซึ่งจะเป็นรถยนต์นั่ง ไม่เกิน 10 คน แบบ HEV และ MHEV ซึ่งผลิตในประเทศ โดยรถยนต์ HEV กำหนดภาษีสรรพสามิตในอัตราคงที่ ตั้งแต่เริ่มใช้โครงสร้างภาษีใหม่ เป็นเวลา 7 ปี (2569-2575) ตามอัตราภาษีและเงื่อนไขการลงทุน ดังนี้ ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สูงสุดไม่เกิน 120 g/km, การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต 6% การปล่อย CO2 ตั้งแต่ 101-120 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต 9%, ต้องมีการลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยผู้ผลิตรถยนต์ และบริษัทในเครือไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567- 2570 ต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และใช้ชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆตั้งแต่ปี 2571 สำหรับ MHEV ซึ่งเป็นรถยนต์แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าในการขับเคลื่อนต่ำกว่า 60 โวลต์ ได้กำหนดภาษีสรรพสามิตในอัตราคงที่ และเงื่อนไขการลงทุน ดังนี้ ปล่อย CO2 สูงสุดไม่เกิน 120 g/km, การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต 10%, การปล่อย CO2 ตั้งแต่ 101-120 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต 12% เป็นต้น
ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/auto/evcar/2832496 วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568