แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้แทรกซึมเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นเดียวกับในอุตสาหกรรมอื่นๆ มุ่งแก้ปัญหาโลกร้อน
จากแผนปฏิรูปสีเขียวฉบับใหม่ของกลุ่มสหภาพยุโรป ภายใต้ชื่อ The European Green Deal โดยให้ความสำคัญกับระบบที่มีการวางแผนและออกแบบมาเพื่อใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคืนสภาพหรือให้ชีวิตใหม่แก่วัสดุต่าง ๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ แทนที่จะทิ้งไปเป็นขยะเมื่อสิ้นสุดการบริโภค
World Economic Forum (December 2020) ย้ำว่าถึงเวลาที่อุตสาหกรรมยานยนต์ต้องปรับตัว จึงมีการริเริ่ม Circular Cars Initiative ขึ้น โดยระบุว่าในช่วงเวลานี้อุตสาหกรรมยานยนต์มีการพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ตั้งแต่ระบบการผลิตไปจนถึงความปลอดภัยแบบใหม่ ระบบไฟฟ้าและดิจิทัล โดยมีแนวคิดสำคัญที่จะมุ่งไปสู่ยานยนต์ปลอดคาร์บอนหรือไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ ซึ่งสนับสนุนข้อตกลงปารีสในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 เพื่อบรรเทาปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งระบุว่าอุตสาหกรรมยานยนต์มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 10% ของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนวคิดในการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์
เริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบยานยนต์คุณภาพสูง ด้วยวัสดุเกรดดี เลือกส่วนประกอบและวัสดุที่จะรีไซเคิลได้หรือนำกลับมาใช้ใหม่เมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งานยานพาหนะ โดยพัฒนาระบบการคัดแยกและรวบรวมให้ดียิ่งขึ้น มีการออกแบบสำหรับการถอดชิ้นส่วนได้สะดวก การใช้ซ้ำ การผลิตซ้ำ และการรีไซเคิล รวมถึงแบตเตอรี่ที่มีมาตรฐาน เอื้อให้สามารถนำไปผ่านกระบวนการเพื่อใช้ได้มากกว่าครั้งเดียว และสามารถรองรับระบบพลังงานในอนาคตได้ ทั้งนี้ ได้เรียกร้องให้มีกลไกทางการเงินที่เอื้อต่อการลงทุนในด้านนี้ให้กว้างขวางขึ้น กำหนดเป้าหมายและส่งเสริมระบบมาตรฐานและการรองรับผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และเผยแพร่องค์ความรู้ในด้านนี้ให้กว้างขวาง
ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/652189 วันที่ 18 มีนาคม 2564