มาตรฐานยานยนต์ของไทยในปัจจุบัน
หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในเรื่องมาตรฐานยานยนต์หลักๆได้แก่ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหรรม และกรมควบคุมมลพิษ โดยกรมการขนส่งทางบกมีหน้าที่ในการกำหนดและควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับ ยานยนต์เพื่อใช้ในการจดทะเบียน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมีหน้าที่ในการกำหนดและควบคุมมาตรฐาน ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงมาตรฐานไอเสียรถยนต์ สำหรับกรมควบคุมมลพิษนั้นมีหน้าที่ในการกำหนด นโยบายในด้านสิ่งแวดล้อม
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวมีแนวโน้มในการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมยานยนต์ตามมาตรฐาน UN/ECE ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนให้มากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศ ป้องกันการนำเข้าสินค้าด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ รวมถึงให้เป็นไปตาม แนวโน้มของทิศทางโลกซึ่งจะมีการทำ Harmonization ด้านมาตรฐาน (การใช้มาตรฐานเดียวกัน)
ในส่วนการทำ Harmonization ของมาตรฐานนั้นปัจจุบันได้มีความคืบหน้าคือ ประเทศไทยได้มีการเข้าไปลงนาม 1958 agreement แล้วเมื่อ เดือนพฤษภาคม พ.ศ 2549 แต่ยังไม่มีผลในทางปฎิบัติเนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการลงนามในมาตรฐานใดๆ
โดยปัจจุบันในแต่ละหน่วยงานมีมาตรฐานที่เกี่ยวข้องดังนี้
1.สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
มีอำนาจดำเนินการโดยใช้พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511ในการกำหนดและควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทั้งด้านความปลอดภัยและ สิ่งแวดล้อมสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงมาตรฐานไอเสียรถยนต์ ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ เป็นต้นดังรายละเอียดดังนี้
มาตรฐานด้านไอเสียรถยนต์และจักรยานยนต์
การบังคับใช้มาตรฐานเกี่ยวกับสารมลพิษจากยานยนต์เป็นไปตามมติคณะกรรมการสิ่งแวด ล้อมแห่งชาติ ครอบคลุมรถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ รถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก รถยนต์เบนซิน และรถจักรยานยนต์ ซึ่งบังคับใช้มาเป็นระดับ ๆ ตั้งแต่ปี 2536 ตามขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีโดยอิงมาตรฐานของยุโรป โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(1) รถยนต์ใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน
มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในเรื่องนี้นั้นมีขอบข่ายครอบคลุมฉพาะรถยนต์นั่ง รถบรรทุก และรถยนต์นั่งที่ดัดแปลงมาจากรถบรรทุกที่มีมวลเต็มอัตราบรรทุก (น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุก) ไม่เกิน 3,500 กิโลกรัม การกำหนดมาตรฐานมีความเข้มงวดขึ้นเป็นลำดับ
โดยเริ่มประกาศมาตรฐานระดับที่ 1(มอก.1085-2535) เป็นมาตรฐานทั่วไป เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2535 หลังจากนั้นได้มีการประกาศบังคับใช้มาตรฐานระดับที่ 2 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2536 และมาตรฐานระดับที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2538 ซึ่งมาตรฐานนี้มีความเข้มงวดขึ้นเฉพาะรถยนต์นั่งไม่เกิน 6 ที่นั่งเท่านั้นต่อมาได้ประกาศบังคับใช้มาตรฐานระดับที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2540 เพื่อให้ครอบคลุมสำหรับรถตู้ รถปิคอัพ และรถดัดแปลงต่างๆ
ปัจจุบันได้มีการประกาศใช้มาตรฐานระดับที่ 7(มอก.2160-2546) แล้วตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2548 ซึ่งตามมาตรฐาน Euro III
และทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มีแผนในการบังคับใช้มาตรฐานระดับที่ 8(Euro IV) ในปี พ.ศ. 2555
(2) รถยนต์ใหม่ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล
มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในเรื่องนี้นั้นมีขอบข่ายครอบคลุมฉพาะรถยนต์นั่งไม่เกิน 9 ที่นั่ง รถบรรทุกที่มีมวลเต็มอัตราบรรทุก (น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุก) ไม่เกิน 3,500 กิโลกรัม และรถยนต์นั่งดัดแปลงจากรถบรรทุกที่มีมวลเต็มอัตราบรรทุกไม่เกิน 3,500 กิโลกรัม (ไม่จำกัดจำนวนที่นั่ง) การกำหนด มาตรฐานมีความเข้มงวดขึ้นเป็นลำดับ
โดยเริ่มประกาศบังคับใช้มาตรฐานระดับที่ 1(มอก.1140-2536) ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2536 และมาตรฐานระดับที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2538 ซึ่งมาตรฐานนี้มีความเข้มงวดขึ้นเฉพาะรถยนต์นั่งไม่เกิน 6 ที่นั่งต่อมาได้ประกาศบังคับใช้มาตรฐานระดับที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2539 เพื่อให้ครอบคลุมสำหรับรถตู้ รถปิคอัพ และรถดัดแปลงต่างๆ
ปัจจุบันได้มีการประกาศใช้มาตรฐานระดับ 6 (มอก.2155-2546) ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2548 ซึ่งตามมาตรฐาน Euro III
และทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มีแผนในการบังคับใช้มาตรฐานระดับที่ 7(Euro IV) ในปี พ.ศ. 2555
(3) รถยนต์ใหม่ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล
มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในเรื่องนี้นั้นมีขอบข่ายครอบคลุมฉพาะรถยนต์นั่งเกิน 9 ที่นั่งและรถบรรทุกที่มีมวลเต็มอัตราบรรทุก (น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุก) เกิน 3,500 กิโลกรัม มีการออกประกาศมาตรฐานระดับที่ 1 (มอก.1180-2536) เป็นมาตรฐานทั่วไป และบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2536 ต่อมาคณะกรรมการ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีมติให้บังคับใช้มาตรฐานระดับที่ 2 (EURO I) ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2538
ปัจจุบันได้มีการประกาศใช้มาตรฐานระดับที่ 4 (มอก. 2315-2551) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2552 นี้ซึ่งตามมาตรฐาน Euro III
(4) รถจักรยานยนต์ใหม่
มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในเรื่องนี้นั้นมีขอบข่ายครอบคลุมฉพาะรถจักรยานยนต์สองล้อที่มีมวลรถเปล่า (น้ำหนักรถไม่รวมน้ำหนักบรรทุก) น้อยกว่า 400 กิโลกรัม มีความเร็วออกแบบสูงสุดมากกว่า 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีปริมาตรกระบอกสูบมากกว่า 50 ลูกบาศก์เซนติเมตร
การกำหนดมาตรฐานเริ่มบังคับใช้มาตรฐานระดับที่ 1(มอก.1105-2535) ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2535 หลังจากนั้นได้ประกาศบังคับใช้มาตรฐานระดับที่ 2 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2536 ต่อมา สมอ. ได้ออกประกาศบังคับใช้มาตรฐานระดับที่ 3 และระดับที่ 4 สำหรับรถจักรยานยนต์ทุกขนาด ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2539 และ ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2542 ตามลำดับ
ปัจจุบันได้มีการประกาศใช้มาตรฐานระดับ 6 (มอก.2350-2551) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2552 นี้ซึ่งตามมาตรฐาน Euro III