จากมาตรการส่งเสริมยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท จากเดิมมีแค่รถยนต์ไฟฟ้าและรถโดยสารไฟฟ้า
โดยขยายวงกว้างไปถึงกิจการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ กิจการผลิตสามล้อไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ กิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ อาจจูงใจให้เกิดการลงทุนในไทยมากขึ้น และช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะผลิตรถไฟฟ้าในประเทศไม่น้อยกว่า 30% ของทั้งหมด
แต่ประเทศไทยอาจจะไม่ใช่ประเทศเดียวที่การเติบโตของอุตสาหกรรมจะถาโถมเข้าใส่เพียงประเทศเดียว ยังมีประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย แม้ปัจจุบันไทยยังมีความได้เปรียบที่สูงกว่าอินโดนีเซียก็ตาม โดยเฉพาะจากความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์ และความสามารถในการผลิตให้เกิด economies of scale ที่สูงกว่า ทว่า ในระยะไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า ความได้เปรียบดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หากอินโดนีเซียสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ Li-ion ของรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้
ดังนั้น ไทยควรพิจารณาเร่งสร้างในช่วง 5 ปีนี้ ได้แก่ การสร้างห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนใหม่ ๆ ที่สำคัญของรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมขึ้นมาจากห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในเดิมที่ไทยมีอยู่แล้ว และการสร้างโอกาสส่งออกรถยนต์ BEV ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อชดเชยกับขนาดตลาดในประเทศที่เล็กกว่าอินโดนีเซีย
ที่มา : https://www.prachachat.net/motoring/news-551807 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563