ในระยะ 2 ถึง 3 ปีหลังมานี้ วงการอุตสาหกรรมรถยนต์ได้เกิดการตื่นตัวขนานใหญ่เพื่อก้าวเข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังมากขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงภาพห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์ในไทย
ที่จะเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะวิเคราะห์ในรายละเอียดตามประเภทของห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนดังต่อไปนี้
ห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนเดิม..หดสั้นลงจากการมาของรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมกับต้องปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ สำหรับห่วงโซ่อุปทานกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ICE ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนเดิมที่อยู่ในอุตสาหกรรมมานาน และคาดว่า ในช่วงระยะ 8 ปีนับจากนี้จนถึงปี 2570 รถยนต์ไฮบริด (HEV) และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ที่ยังคงต้องการใช้ชิ้นส่วนระบบส่งกำลังจากเครื่องยนต์สันดาปภายในอยู่นั้น จะยังคงเป็นรูปแบบหลักที่ค่ายรถจะพัฒนาในไทย เนื่องจากค่ายรถส่วนใหญ่ยังต้องรักษากลุ่มธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานเดิม รวมถึงด้วยระดับเทคโนโลยีปัจจุบัน ค่ายรถยังไม่สามารถพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ขึ้นมาแข่งขันกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ได้ในระดับตลาด Mass ทำให้เราจะยังเห็นความต้องการชิ้นส่วนรถยนต์ ICE ที่มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกมากในช่วงปีดังกล่าว อย่างไรก็ตามในอนาคตช่วงระยะหลังจากปี 2570 ซึ่งคาดว่าค่ายรถต่างๆน่าจะสามารถพัฒนารถยนต์ BEV ที่มีราคาแข่งขันกับตลาดรถยนต์ ICE ในระดับ Mass ได้ การเติบโตของตลาดรถยนต์ BEV นับจากช่วงนี้ไปน่าจะมีโอกาสเติบโตขึ้นชัดเจน สวนทางกับความต้องการรถยนต์ ICE ที่คาดว่าจะทยอยลดลงไปตามลำดับ
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 3 ธ.ค. 2562
แหล่งที่มารูป : http://www.newsdatatoday.com/