ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดอายุรถตู้โดยสารประจำทางไม่เกิน 10 ปี และถ้าจดทะเบียนใหม่ต้องเปลี่ยนเป็น "มินิบัส" แทน (แต่มีรายละเอียดต่างกันไปตามเส้นทางหรือโหมดการวิ่ง) ด้วยนโยบายนี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการสัญชาติไทย เล็งเห็นโอกาสและตัดสินใจลุยประกอบมินิบัสรุ่นใหม่ เพื่อท้าชนกับผู้ผลิตรถยนต์ข้ามชาติ
ปัจจุบันตลาดรถตู้- มินิบัส ที่เจาะกลุ่มเชิงพาณิชย์มีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง "โตโยต้า" ทำตลาดทั้งรถตู้ คอมมิวเตอร์/ไฮเอซ,มาเจสตี้ และรถบัส "โคสเตอร์" ส่วนนิสสัน มี เออร์แวน ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตคนไทยที่กระโดดเข้าในตลาดอย่าง "ไทยรุ่ง" ด้วยมินิบัส ทีอาร์ ทราเวลเลอร์ และอีกหนึ่งแบรนด์น้องใหม่ "สกุลฎ์ซี"
อย่างไรก็ดีในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" ได้มีการหารือกับกลุ่มรถตู้โดยสารสาธารณะ และมีแนวทางเบื้องต้นในการขยายอายุรถตู้โดยสารสาธารณะจาก 10 ปีเป็น 12 ปี ส่วนการเปลี่ยนจากรถตู้เป็นมินิบัส ก็ไม่มีการบังคับอีกต่อไปแต่จะเปิดให้สมัครใจ ด้านกรมการขนส่งทางบกที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะก็รับลูก และอยู่ในระหว่างการศึกษาหาข้อสรุป แม้จะยังไม่ได้ประกาศแน่ชัดออกมาเป็นนโยบาย แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสร้างแรงกระเพื่อมให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้-มินิบัส โดยเฉพาะบริษัทคนไทยอย่าง ไทยรุ่ง และสกุลฎ์ซี
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 19 กันยายน 2562